นาย แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีการต่างประเทศสหรัฐฯ สรุปการเยือนตะวันออกกลางรอบล่าสุด เป็นเวลา 10 วัน หลังการเจรจากับประธานาธิบดี อับเดล ฟัตตาห์ เอล-ซิซี แห่งอียิปต์ ซึ่งเขายอมรับว่า ในการเดินทางเยือนก่อนหน้านี้ หลายประเทศไม่เต็มใจพูดคุยเกี่ยวกับเสถียรภาพและความมั่นคงในระยะยาวภายหลังจากสงครามในฉนวนกาซา แต่การเดินทางในรอบนี้ที่มีขึ้นเป็นครั้งที่ 4 นับตั้งแต่สงครามในฉนวนกาซาเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2566 หลายประเทศมีท่าทีที่เปลี่ยนแปลงไป
ในการเดินทางครั้งนี้ นายบลิงเคนได้พบหารือกับผู้นำของตุรกี จอร์แดน กาตาร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดีอาระเบีย บาห์เรน และองค์กรบริหารของปาเลสไตน์ พร้อมด้วยกรีซ ซึ่งต่างให้คำมั่นที่จะมีส่วนร่วมในการสร้างความมั่นคงและแผนฟื้นฟูฉนวนกาซา แต่อุปสรรคสำคัญคือการโน้มน้าวให้รัฐบาลขวาจัดของอิสราเอลที่นำโดยนายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮู ยอมรับแนวทางของสหรัฐฯ โดยเฉพาะในเรื่องนโยบายสองรัฐ ซึ่งอิสราเอลไม่เห็นด้วยมาอย่างยาวนาน
สื่อสหรัฐฯ ที่ติดตามคณะทำงานของนายบลิงเคน เปิดเผยว่า การเจรจากับฝ่ายอิสราเอลเมื่อวันอังคาร (9 ม.ค.67) เป็นการสนทนาที่ยากที่สุดในการเดินทาง แม้จะได้ข้อสรุปให้ทีมตรวจสอบของสหประชาชาติเดินทางเข้าไปในฉนวนกาซาทางตอนเหนือ เพื่อประเมินว่ามีความปลอดภัยเพียงพอให้ผู้อยู่อาศัยเดินทางกลับมาพื้นที่ได้หรือไม่
ขณะที่นายบลิงเคน เปิดเผยว่า เป้าหมายสำคัญอีก 1 ประเด็นของการเดินทางเยือนในรอบล่าสุดนี้ คือการปฏิรูปองค์กรบริหารของปาเลสไตน์ ซึ่งมีการหารือในวันพุธ (10 ม.ค.) ที่เมืองอควาบา โดยมีประธานาธิบดี เอล-ซิซี แห่งอียิปต์, กษัตริย์อับดุลเลาะห์ที่ 2 แห่งจอร์แดน และประธานาธิบดี มาห์มูด อับบาส ของปาเลสไตน์ ร่วมการหารือ และให้คำมั่นว่าจะมีการปฏิรูปหน่วยงาน ทั้งในเรื่องคณะทำงาน การปราบปรามการทุจริต การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และการผ่อนคลายข้อจำกัดการทำงานของสื่อมวลชน
นอกจากนี้ นายบลิงเคน ยังแสดงความเห็นว่า การสร้างความมั่นคงในภูมิภาคคือการทำลายกลุ่มก่อการร้ายที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน และการนำเสนอให้ประเทศต่าง ๆ เริ่มการพูดคุยเกี่ยวกับสถานการณ์ในภายหลังสงคราม ก็เพื่อป้องกันความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต และการขยายพื้นที่ของสงคราม
….
#สหรัฐฯ #ตะวันออกกลาง #อิสราเอล