ทบวงพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency : IEA) ที่ฝรั่งเศส เผยแพร่รายงานแนวโน้มพลังงานหมุนเวียนประจำปี ระบุว่า ในปีที่แล้ว (2566) กำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 50 จากปีก่อนหน้าเป็น 510 กิกะวัตต์ (GW) ส่งผลให้มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 3,700 กิกะวัตต์ แต่ภายใต้เงื่อนไขของนโยบายและตลาดปัจจุบัน กำลังการผลิตจะต้องเพิ่มขึ้นเป็น 7,300 กิกะวัตต์ ภายในปี 2571 เพื่อให้บรรลุเป้าหมายปี 2573 ที่ 11,000 กิกะวัตต์
ในการประชุมสุดยอด COP28 เมื่อเดือนธันวาคม 2566 รัฐบาลทั่วโลกตกลงที่จะเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนเป็น 3 เท่าให้ได้ภายในปี 2573 และเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล แต่ยังไม่มีข้อตกลงเกี่ยวกับแนวทางการสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนาในการเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาด โดยมีปัญหาสำคัญคือการจัดหาเงินทุน นาง ฟาติห์ บิโรล ผู้อำนวยการบริหารของไออีเอ เปิดเผยว่า หากไม่มีความช่วยเหลือ ประเทศในแอฟริกาและประเทศรายได้น้อยในเอเชียและลาตินอเมริกา จะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายด้านพลังงานสะอาดได้ โดยตลอดปีที่ผ่านมา ภาวะเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นทำให้โครงการพลังงานหมุนเวียนมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ การลงทุนที่ไม่เพียงพอในโครงข่ายไฟฟ้าก็เป็นอีกปัจจัยที่ขัดขวางการเติบโตของพลังงานหมุนเวียน
ในรายงานระบุด้วยว่า กำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นในปี 2566 ได้แรงหนุนจากการเติบโตในยุโรป สหรัฐอเมริกา บราซิล และจีน การนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ รวมถึงพลังงานแสงอาทิตย์ ลม พลังงานน้ำ เชื้อเพลิงชีวภาพ และอื่นๆ ถือเป็นกุญแจสำคัญในการเปลี่ยนแปลงของโลกไปสู่ระบบพลังงานที่ยั่งยืนมากขึ้น ซึ่งจำเป็นในการจำกัดผลกระทบที่เลวร้ายที่สุดของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ปัจจุบันการผลิตพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์บนบกมีราคาถูกกว่าการผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลในหลายประเทศ ซึ่งช่วยผลักดันให้พลังงานแสงอาทิตย์เติบโตขึ้นมาก คิดเป็นสามในสี่ของกำลังการผลิตหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก
…
#พลังงานหมุนเวียน
#ไออีเอ