ศูนย์จีโนม เปิดข้อมูล ชาวอเมริกันติดโควิด-19 เพิ่มขึ้น จากผลตรวจน้ำเสีย ใกล้ถึงจุดสูงสุดระบาดระลอก 2

12 มกราคม 2567, 10:57น.


           Center for Medical Genomics หรือ ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี รายงานสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ว่า ล่าสุด! จากการตรวจวัดจำนวนและสายพันธุ์ของไวรัสโควิด-19 ในน้ำเสีย(ที่ปนเปื้อนอุจจาระ ปัสสาวะ) จากแหล่งชุมชน ชี้ว่า สหรัฐอเมริกาใกล้ถึงจุดสูงสุดของคลื่นการระบาดใหญ่ระลอกที่ 2 นับตั้งแต่เริ่มมีการระบาดมา ขณะนี้ประเมินว่ามีชาวอเมริกันติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 1 คนในทุกๆ 23 คนและมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ประมาณ 2 ล้านคนต่อวัน โดยมีโอไมครอน JN.1 เป็นสายพันธุ์หลัก


           การระบาดใหญ่ระลอกแรกเกิดจากโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนดั้งเดิม (BA.1) ในช่วงเดือน ธ.ค. 2564-ม.ค. 2565 พบไวรัสในน้ำเสียประมาณ 4,500 อนุภาคในน้ำ 1 มิลลิลิตร


          การระบาดใหญ่ล่าสุดระลอก 2 เกิดจากโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน JN.1 ในช่วงเดือน ธ.ค. 2566-ม.ค. 2567 พบไวรัสในน้ำเสียประมาณ 1,400 อนุภาคในน้ำ 1 มิลลิลิตร ซึ่งถือว่าเกินระดับสูงมาก (very high) มาจากการตรวจหาไวรัสโควิด-19 จากแหล่งน้ำเสียทั่วสหรัฐอเมริกามากกว่า 700 ชุมชนซึ่งเป็นตัวแทนของผู้คนกว่า 100 ล้านคน พบไวรัสในน้ำเสียประมาณ 1,400 อนุภาคในน้ำ 1 มิลลิลิตร ซึ่งถือว่าเกินระดับสูงมาก (very high) 


           ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ และสำนักวิจัยโรงพยาบาลรามาธิบดี ดำเนินการโครงการนำร่องการเฝ้าระวังโควิด-19 จากน้ำเสียที่สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ ที่ประสบความสำเร็จ ในช่วงการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา สำนักวิจัยฯ ได้เก็บตัวอย่างน้ำเสียจากสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ มาตรวจ Real-time PCR ตัวอย่างที่ให้ผลเป็นบวก ถูกส่งมาตรวจรหัสพันธุกรรมด้วยเทคนิค MassArray Genotyping ที่ศูนย์จีโนมฯ การเฝ้าระวังโควิด-19 จากน้ำเสียสามารถเริ่มดำเนินการได้ทันทีหากมีความต้องการและจำเป็น 


           เกณฑ์ชี้วัด 


-หากพบไวรัสในน้ำเสียประมาณ 200 อนุภาคในน้ำ 1 มิลลิลิตร ถือว่าชุมชนนั้นมีการแพร่ของไวรัสในระดับต่ำ (low) 


-พบไวรัสในน้ำเสียประมาณ 400 อนุภาคในน้ำ 1 มิลลิลิตร ถือว่าชุมชนนั้นมีการแพร่ของไวรัสในระดับปานกลาง (moderate) 


-พบไวรัสในน้ำเสียมากกว่า 500 อนุภาคในน้ำ 1 มิลลิลิตร ถือว่าชุมชนนั้นมีการแพร่ของไวรัสในระดับสูง (high) 


-พบไวรัสในน้ำเสียมากกว่า 1,000 อนุภาคในน้ำ 1 มิลลิลิตร ถือว่าชุมชนนั้นมีการแพร่ของไวรัสในระดับสูงมาก (very high) 


           การเฝ้าติดตามไวรัสโคโรนา 2019 ในน้ำเสียด้วยเทคนิค RT-PCR มีศักยภาพในการตรวจจับไวรัสในของเสียของมนุษย์ก่อนที่บุคคลจะแสดงอาการ ช่วยให้สามารถดำเนินการด้านสาธารณสุขได้อย่างรวดเร็ว สามารถยับยั้ง ชะลอ หรือ ลดการระบาดในชุมชนนั้นได้ทันท่วงที เป็นวิธีการที่คุ้มค่าและมีประสิทธิภาพในการติดตามการแพร่กระจายของโรคติดเชื้อ รวมถึงโรคโควิด-19 ในชุมชน


           นอกจากนี้ การตรวจสอบน้ำเสียยังช่วยระบุ "จุดฮอตสปอต" ของการเกิดขึ้นและการแพร่กระจายของโรคในเชิงรุก อันเป็นเครื่องมือสาธารณสุขที่ทรงพลัง เพราะขณะนี้โลกกำลังขาดข้อมูลการตรวจวินิจฉัยโควิด-19 ทางห้องปฏิบัติการเพราะประชาชนนิยมตรวจ ATK กันเองเป็นส่วนใหญ่ไม่มาสถานพยาบาล




           การตรวจติดตามโควิด-19 จากน้ำเสียสามารถช่วยระบุสถานที่ที่เกิดการระบาดของโควิด-19 การตรวจพบตั้งแต่เนิ่นๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถให้การสนับสนุนในการควบคุมโรคแบบกำหนดเป้าหมาย ซึ่งเป็นการประหยัดงบด้านสาธารณสุขที่มีจำกัดและให้ข้อมูลที่ครอบคลุมเกี่ยวกับการแพร่กระจายของโรคระบาดทั่วประเทศได้ในแบบเรียลไทม์ 


          องค์การอนามัยโลก แนะนำให้ชาติสมาชิกเฝ้าระวังการระบาดโควิด-19 จากน้ำเสีย (Wastewater Surveillance) ผนวกกับการเฝ้าระวังจีโนมิกส์ (Genomic Surveillance) เพื่อ “ชะลอ” หรือ “ซื้อเวลา”การแพร่ระบาดของโควิด-19 หรือโรคอุบัติใหม่ในอนาคต 


 


#โควิด19


CR:ขอบคุณข้อมูล-ภาพ Center for Medical Genomics 


 


 
ข่าวทั้งหมด

X