นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ผู้ป่วยมีอาการทางจิตเวชที่ก่อเหตุความรุนแรง พบว่า ร้อยละ 80 มีความเชื่อมโยงกับปัญหายาเสพติด ดังนั้นหากแก้ปัญหายาเสพติดได้ก็จะช่วยแก้ปัญหาผู้ป่วยจิตเวชก่อความรุนแรงในชุมชนได้ คณะอนุกรรมการข้อมูลระบบบำบัดยาเสพติด ซึ่งมีผู้แทนหน่วยงานจากหลายหน่วยงานเห็นชอบให้มีการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างระบบข้อมูลการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดของประเทศ (บสต.) และข้อมูลผู้ป่วยที่มีความผิดปกติทางจิตและพฤติกรรมที่เกิดจากการใช้สารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทที่เข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา ของกรมสุขภาพจิต ในระบบคลังข้อมูล Health Data Center (HDC) เพื่อบูรณาการการดูแลคุณภาพชีวิตผู้ป่วยยาเสพติดที่มีการบำบัดรักษาอาการทางจิตได้อย่างต่อเนื่องได้
พร้อมสนับสนุนให้มีการประเมินผลคุณภาพชีวิตผู้ผ่านการบำบัดจากศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม โดยปรับปรุงข้อมูลที่จะบันทึกในระบบ บสต. ในประเด็นสำคัญที่สามารถนำไปประเมินคุณภาพชีวิตผู้ที่ผ่านการบำบัดรักษาฯ ซึ่งปัจจุบันมีการวางแผนปรับปรุงเว็บไซต์และพัฒนาระบบข้อมูล บสต. ให้ใช้งานได้บน Mobile Application เพื่อความสะดวก รวมทั้งจะมีการประสานความร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทย หาแนวทางลดระยะเวลาอนุมัติสิทธิ์ทะเบียนราษฎร์ให้กับผู้ปฏิบัติงานในศูนย์คัดกรองต่างๆ ในการเข้าใช้ระบบ บสต. เนื่องจากปัจจุบันต้องใช้เวลาขออนุมัติสิทธิ์นาน 30-45 วัน ทำให้การลงข้อมูลผู้ป่วยล่าช้า
นพ.โอภาส กล่าวด้วยว่า ในการเชื่อมโยงระบบข้อมูลต่างๆ ของผู้ป่วย ทุกหน่วยงานต้องใช้ความระมัดระวัง ต้องคำนึงถึงกฎหมาย PDPA และความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ซึ่งในส่วนระบบการดูแลข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข จะไม่เชื่อมโยงข้อมูลใดๆ ที่ไม่จำเป็น เพื่อป้องกันการถูกโจรกรรมข้อมูล
...
#ผู้ติดยาเสพติด
#จิตเวช
กระทรวงสาธารณสุข