แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เสนอให้มีการสอบสวนกองทัพเมียนมาในข้อหาก่ออาชญากรรมสงครามจากการโจมตีครั้งใหม่ มีการใช้อาวุธร้ายแรงในการต่อสู้กับกองกำลังชนกลุ่มน้อย โดยเป็นการรายงานที่อ้างอิงหลักฐานจากในพื้นที่และคำบอกเล่าของพลเรือนที่ได้รับผลกระทบ ประกอบกับรายงานของสหประชาชาติ ที่ประเมินว่าประชาชนมากกว่า 2 ล้านคน ถูกบังคับให้กลายเป็นผู้พลัดถิ่น นับตั้งแต่ปี 2564 ทำให้วิกฤตด้านมนุษยธรรมมีความรุนแรงมากขึ้น นายแมตต์ เวลส์ ผู้อำนวยการโครงการรับมือวิกฤติของแอมเนสตี้ กล่าวว่า ปฏิบัติการของกองทัพเมียนมาส่งผลกระทบร้ายแรงต่อพลเรือน ซึ่งไม่มีแนวโน้มว่าจะลดความรุนแรงลง
ด้านนักรบของกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง (Ta'ang National Liberation Army : TNLA) เคลื่อนกำลังเข้าเมืองน้ำสั่น (Namhsan) ที่ตั้งอยู่บนเชิงเขาทางตอนเหนือของรัฐฉานทางตะวันออกเฉียงเหนือของเมียนมา และเป็นเมืองศูนย์กลางการค้าในรัฐฉาน นับเป็นชัยชนะอย่างต่อเนื่องของกองกำลังชนกลุ่มน้อยที่ต่อสู้กับกองทัพของทางการ เพื่อฟื้นฟูการปกครองของพลเรือนหลังรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564
กองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติเมียนมา (Myanmar National Democratic Alliance Army : MNDAA) กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง (TNLA) และกองทัพอาระกัน (Arakan Army : AA) เริ่มปฏิบัติการ 1027 ในช่วงปลายเดือนตุลาคม ในรัฐฉานทางตอนเหนือและทางตะวันตกของรัฐยะไข่ สามารถควบคุมด่านทหารหลายร้อยแห่ง ตลอดจนเมืองสำคัญใกล้ชายแดนจีน จากนั้นกลุ่มติดอาวุธพลเรือนที่เรียกว่ากองกำลังป้องกันประชาชน (PDF) ซึ่งก่อตั้งขึ้นหลังจากการรัฐประหารก็ได้เข้าร่วมเป็นพันธมิตร
..
#เมียนมา
#ชนกลุ่มน้อย
#แอมเนสตี้