จากเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงในเนปาล ซึ่งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ร่วมด้วยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มีสารแสดงความเสียใจไปยังนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเนปาล พร้อมยืนยันความพร้อมของรัฐบาลไทยในการให้ความช่วยเหลือแก่รัฐบาลและประชาชนเนปาล
โดยกระทรวงการต่างประเทศ ได้ตั้งศูนย์ประสานการให้ความช่วยเหลือ โดยจะมีการประชุมครั้งแรกในวันนี้ ที่กระทรวงการต่างประเทศ เช่นเดียวกับที่กระทรวงสาธารณสุขที่จะมีการประชุมศูนย์ปฏิบัติการ ฯ ช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวที่เนปาล
ด้านสถานเอกอัครราชทูตเนปาลประจำประเทศไทย แจ้งให้กระทรวงการต่างประเทศทราบถึงความต้องการในชั้นต้น และรัฐบาลไทยพิจารณาจัดส่งตามที่ฝ่ายเนปาลต้องการ โดยในเบื้องต้น ได้อนุมัติเงินช่วยเหลือ 2 แสนเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 6 ล้านบาท
บริษัทการบินไทยรับชาวไทยในเนปาลกลับมาถึงประเทศไทยแล้ว 2 เที่ยวบินรวม 416 คน
ด้านนายวุตติ วุตติสันต์ เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงกาฐมาณฑุ ประเทศเนปาล แจ้งว่าพบนิสิตไทยทั้ง 6 คน จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ที่เดินทางไปเที่ยวที่เนปาลแล้ว และกำลังเดินทางกลับมาที่กรุงกาฐมาณฑุเพื่อกลับประเทศไทย
ส่วนรัฐบาลไทยเชิญชวนให้ร่วมบริจาคสิ่งของและปัจจัยเพื่อการดำรงชีพได้ที่ศูนย์ดำรงธรรม ทุกจังหวัดทั่วประเทศ ตลอดจนจะจัดงาน "รวมน้ำใจคนไทยไปเนปาล" เพื่อระดมความช่วยเหลือ
กองทัพบกจัดกำลังพล หน่วยบรรเทาสาธารณภัย ออกเดินทางไปเนปาล และกองทัพอากาศก็เตรียมอากาศยาน พร้อมดำเนินการตามที่ได้รับมอบหมายทันที รวมถึงฝ่ายตำรวจก็จัดทีมกู้ภัย ทีมพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล และทีมแพทย์แล้ว โดยจะเดินทางไปเร็วที่สุด ขณะที่ หน่วยแพทย์จากสำนักสาธารณสุขฉุกเฉิน และสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติชุดแรกจำนวน 30 คน จะออกเดินทางไปเนปาลในวันนี้
และสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช มีบัญชาให้พระเทพโพธิวิเทศ หัวหน้าพระธรรมทูตไทยสายอินเดีย-เนปาล ได้จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือขึ้นที่วัดไทยลุมพินี ประเทศเนปาล
เมื่อวานนี้ พลเอกธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและคณะ เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ในการประชุมคณะมนตรีประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ครั้งที่ 12 และการประชุมคณะมนตรีประสานงานอาเซียน ครั้งที่ 16 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย โดยมีการประชุมเกี่ยวกับการขับเคลื่อนประชาคมอาเซียน โดยเฉพาะการดำเนินงานตามแผนงานสำหรับประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน การเสริมสร้างความเข้มแข็งของสำนักเลขาธิการอาเซียนและกลไกต่าง ๆ ของอาเซียน เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อปัญหาและสิ่งท้าทายต่าง ๆ ที่อาจกระทบภูมิภาคและประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ที่ประชุมยังชื่นชมบทบาทของไทยในฐานะผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-จีน และย้ำความสำคัญของการผลักดันการปฏิบัติตามปฏิญญาว่าด้วยการปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้ (DOC) ควบคู่ไปกับการเร่งรัดการจัดทำแนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้ (COC) เร่งรัดการดำเนินการตามมาตรการเร่งด่วน (early harvest measures) ที่ได้มีการตกลงกันไว้ เพื่อไม่ให้สถานการณ์ในพื้นที่ขยายตัวลุกลาม
ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนได้ออกแถลงการณ์แสดงความเสียใจต่อความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินที่เกิดจากกรณีแผ่นดินไหวที่เนปาล และประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งแสดงความพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือ
โดยเมื่อวานนี้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อมคณะ ออกเดินทางไปเข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 26 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์และลังกาวี ระหว่างวันที่ 26-28 เมษายน ซึ่งนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ขณะนี้ทุกประเทศมีปัญหาด้านเศรษฐกิจเหมือนกัน และมีความจำเป็นที่จะต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ไม่ใช่การแข่งขัน โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ด้านการเกษตร
ส่วนในการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) มีนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสปช. เป็นประธานการประชุม พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับเสนอสภาปฏิรูปแห่งชาติ ตามมาตรา 34 วรรคหนึ่ง และมาตรา 36 ตามที่คณะกรรมาธิการ(กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญพิจารณาเสร็จแล้ว เป็นวันที่ 7 วันสุดท้าย เป็นการอภิปรายเนื้อหาสาระของร่างรัฐธรรมนูญในภาค 4 การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง หมวด 2 การปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรม ส่วน 1 สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ ส่วน 2 การปฏิรูปด้านต่างๆ ต่อจากคืนวันที่ 25 เมษายน ซึ่งมีข้อเสนอให้มีการทบทวนกลไก โครงสร้าง และกำหนดแผนยุทธศาสตร์ชาติเพื่อให้สภาขับเคลื่อนฯมีความชัดเจนมากขึ้น
จากนั้นนายวันชัย สอนศิริ โฆษก กมธ.วิสามัญกิจการ สปช. หรือวิป สปช. แถลงภาพรวมการอภิปรายร่างแรกรัฐธรรมนูญระหว่างวันที่ 20-26 เมษายนว่า การประชุมตลอด 7 วันที่ผ่านมาเป็นการประชุมที่เป็นประโยชน์ต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญ เพื่อให้มีความสมบูรณ์นำไปสู่การแก้ไขปัญหาของประเทศอย่างตรงจุด และช่วยการวางรากฐานการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน และขั้นตอนต่อไป สปช.จะรวบรวมข้อเสนอแนะต่างๆ พร้อมทั้งจะดำเนินการส่งคำขอแก้ไขเพิ่มเติมของสปช. ต่อนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างฯ ภายใน 30 วัน เพื่อนำคำขอแก้ไขไปประกอบการแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญ จากนั้นจะส่งกลับมาให้ สปช.พิจารณาอีกครั้งในช่วงเดือนสิงหาคมนี้
..