จำนวนผู้เสียชีวิตจากแผ่นดินไหวขนาด 7.8 ในเนปาล ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากทั้งในอินเดีย ทิเบต และบังคลาเทศ รวม 4 ประเทศมีจำนวนมากกว่า 2,300 ศพแล้วและมีผู้บาดเจ็บมากกว่า 5.400 คน โดยเกิดอาฟเตอร์ช็อกตามมาอีกหลายครั้ง ครั้งที่รุนแรงที่สุดวัดได้ 6.7 กระตุ้นให้เกิดเหตุหิมะถล่มบริเวณที่ตั้งค่ายสำหรับผู้ปีนยอดเขาเอเวอเรสต์ ขณะที่โบราณสถานสำคัญหลายแห่งทรุดตัวเสียหาย โดยเฉพาะที่หอคอยธาราฮารา ซึ่งสร้างขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 ที่ยังมีผู้ที่ติดค้างอยู่ภายในจำนวนมาก
อาฟเตอร์ช็อกที่เกิดขึ้น ยังรู้สึกได้ถึงกรุงนิวเดลีของอินเดีย ทำให้ทางการต้องสั่งระงับการให้บริการรถไฟใต้ดิน อย่างไรก็ตาม รัฐบาลนานาประเทศ เร่งให้ความช่วยเหลือเนปาล โดยอินเดียเป็นประเทศแรกที่ลำเลียงยาและเสบียงอาหารทางอากาศมาส่งยังสนามบินนานาชาติตรีภูวัน ในกรุงกาฐมาณฑุ
ทั้งนี้ เหตุที่ทำให้เนปาลอยู่ในความเสี่ยงจากภัยแผ่นดินไหวคือที่ตั้งและลักษณะภูมิประเทศ โดยเทือกเขาหิมาลัยเกิดจากการที่แผ่นเปลือกโลกอินเดียอยู่ใต้แผ่นยูเรเชีย ซึ่งมีการเคลื่อนไหวชนกัน 4-5 เซนติเมตร/ปี ขณะที่ อาคารบ้านเรือนสร้างจากวัสดุก่อสร้างที่ไม่แข็งแรงและไม่ทนทานต่อแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว
ในขณะที่การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่เป็นไปอย่างยากลำบาก ก็เพราะโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งไฟฟ้า ประปกา และเส้นทางคมนาคม ชุมชนตั้งอยู่ห่างไกล ทำให้การระบุตำแหน่งทำได้ยาก ทีมกู้ภัยไม่แน่ใจว่าการเดินทางยังสามารถใช้การได้ หรือเสียหายไปแล้ว ยังยังมีความเสี่ยงจากภัยดินถล่ม ที่ตัดขาดเส้นทางอีกด้วย
ภูเขาไฟกัลบูโกทางใต้ของชิลียังคงพ่นเปลวเพลิงและเถ้าถ่าน ซึ่งถูกพัดพาไปทางภูมิภาคปาตาโกเนียและอาร์เจนตินา ทำให้ชิลีและอาร์เจนติน่าต้องยกเส้นทางการบินหลายเส้นทาง กับมีการอพยพประชาชนออกจากพื้นที่เสี่ยงภัยเพิ่มเติม ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านภูเขาไฟ คาดว่าภูเขาไฟลูกนี้จะปะทุต่อไป
หน่วยตรวจการณ์ชายฝั่งของอังกฤษยึดเรือลักลอบขนโคเคน พร้อมผู้ต้องหา 9 คนได้ที่ชายฝั่งตะวันออกของสกอตแลนด์ ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า เรือลำนี้จดทะเบียนที่หมู่เกาะมาร์แชลล์โดยบริษัทของยูเครน และโคเคนมีน้ำหนักกว่า 2 ตัน โดยเป็นการจับกุมและยึดเรือตามที่ศุลกากรฝรั่งเศสแจ้งว่า พบว่าเรือลำนี้เมื่อช่วงกลางเดือน ขณะที่มีการเดินเรือออกนอกเส้นทาง
ตำรวจมาเลเซียจับกุมผู้ต้องสงสัยเป็นนักรบหัวรุนแรงที่สนับสนุนกลุ่มรัฐอิสลาม หรือไอเอส จำนวน 12 คน พร้อมหลักฐานเป็นวัตถุดิบในการประกอบระเบิด ผู้ต้องสงสัยทั้งหมดเป็นชายชาวมาเลเซีย ซึ่งถูกจับกุมระหว่างการกวาดล้างพื้นที่ต้องสงสัยบริเวณชานกรุงกัวลาลัมเปอร์ ซึ่งที่ผ่านมา มีชาวมาเลเซียเดินทางไปซีเรียเพื่อเข้าร่วมกับกลุ่มไอเอสแล้วหลายสิบคน ทำให้มีการแจ้งเตือนว่าจะมีการก่อเหตุร้ายบนแผ่นดินเกิด
โดยในวันนี้ มาเลเซียจะเป็นเจ้าภาพประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ซึ่งมาเลเซียในฐานะประธานอาเซียนและเจ้าภาพการประชุม จะใช้เวทีนี้เรียกร้องให้เพิ่มความร่วมมือในระดับภูมิภาคเพื่อต่อต้านกลุ่มหัวรุนแรง
นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสให้ชาติสมาชิกอย่างฟิลิปปินส์นำประเด็นความขัดแย้งกรณีพิพาทดินแดนภายในทะเลจีนใต้ขึ้นมาหารือด้วย
เจ้าหน้าที่ระดับสูงของชาติสมาชิกสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออก เฉียงใต้ (อาเซียน) และอียู ออกแถลงการณ์ร่วมกันภายหลังการประชุมนอกรอบการประชุมระดับนักการทูตประจำปีของกลุ่มอาเซียน ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ระบุว่า จะมีการประชุมกันในภายในปีนี้ เพื่อประเมินและสำรวจหนทางเดินหน้าการเจรจาและรายงานเรื่อง การเจรจาทำความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ระหว่างอาเซียนกับอียู ที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2550 แต่หยุดชะงักลงในปี 2552 เนื่องจากมีความเห็นขัดแย้งกันหลายด้าน โดยเฉพาะการที่ยุโรปมีความกังวลปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่า ที่เป็นหนึ่งใน 10 ชาติสมาชิกอาเซียน
ซึ่งนอกจากการเจรจาแบบรวมประชาคมแล้ว อียูยังแยกเจรจาเพื่อจัดทำความตกลงการค้าเสรีกับอีกหลายประเทศในอาเซียน คือทั้ง มาเลเซีย, เวียดนาม และไทย
ส่วนการเจรจาทำเอฟทีเอกับสิงคโปร์ ซึ่งเป็นสมาชิกอาเซียนอีกชาติ ทั้งสองฝ่ายบรรลุข้อตกลงกันได้ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2555
ชาติสมาชิกอาเซียนอื่นที่เหลือ ประกอบด้วย อินโดนีเซีย, บรูไน, ลาว, พม่า, ฟิลิปปินส์ และกัมพูชา
ปิดท้ายที่รายงานของสหประชาชาติ และเครือข่ายการแก้ปัญหาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เกี่ยวกับความสุขของประชากรโลกประจำปีนี้ "เวิลด์ แฮปปี้เนส รีพอร์ต 2015" จากการประเมินผลใน 158 ประเทศทั่วโลก ปรากฏว่า สวิตเซอร์แลนด์ ครองอันดับ 1 ตามด้วย ไอซ์แลนด์ เดนมาร์ก นอร์เวย์ แคนาดา ฟินแลนด์ เนเธอร์แลนด์ สวีเดน นิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย ซึ่งทำให้สแกนดิเนเวียเป็นกลุ่มประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลก เพราะดินแดนในภูมิภาคยุโรปเหนือทั้ง 5 ประเทศติดอันดับนี้ทั้งหมด
สิงคโปร์ ติดอันดับสูงสุดในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเป็นชาติที่มีความสุขลำดับที่ 24 ขณะที่ไทยตามมาในลำดับที่ 34 โดยประเทศในอาเซียนมีลำดับดังนี้ มาเลเซีย (61) อินโดนีเซีย (74) เวียดนาม (75) ฟิลิปปินส์ (90) ลาว (99) เมียนมาร์ (129) กัมพูชา (145) ส่วนบรูไนไม่ปรากฏชื่อในรายงานดังกล่าว
ประเทศผู้นำโลกอย่าง รัสเซีย จีน อเมริกาและอังกฤษ ติดอันดับที่ 64, 84, 15 และ 21 ตามลำดับ ขณะที่ชาติลำดับท้ายๆ ส่วนใหญ่อยู่ในแอฟริกา ได้แก่ ชาด กินี ไอวอรีโคสต์ บูร์กินาฟาโซ บุรุนดี และโตโก
รายงานฉบับนี้จัดทำเป็นครั้งที่ 3 ถัดจากปี 2555 และปี 2556 โดยประเมินจากตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อหัว การมีอายุยืนด้วยสุขภาพดี การสนับสนุนทางสังคม เสรีภาพในการเลือกดำเนินชีวิต การปลอดจากภัยคุกคามเรื่องทุจริต และน้ำใจในสังคม
*-*