การติดตามโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยพลาญเสือตอนบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่ต. โดมประดิษฐ์ อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี ของนาย พลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรีและนาย ดนุชา สินธวานนท์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หรือ กปร. นาย เกริกชัย ผ่องแผ้ว นายอำเภอน้ำยืน จ. อุบลราชธานี ระบุว่า อ่างเก็บน้ำห้วยพลาญเสือตอนบนแล้วเสร็จเมื่อปี 2531 ด้วยงบประมาณ 11 ล้านบาท ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองอุบลราชธานี 138 กิโลเมตร จุดประสงค์แรกเริ่มเพื่อใช้เป็นจุดยุทธศาสตร์ช่องบกป้องกันการโจมตีจากข้าศึก โดยใช้น้ำเป็นสิ่งกีดขวางให้ผ่านโดยลำบาก ต่อมาหมดยุคสงครามปี 2532จึงได้ปรับมาเป็นพื้นที่ชลประทาน โดยพื้นที่ของอ่างฯมีประมาณ 8.7 กิโลเมตร และมีความจุของอ่างเก็บน้ำที่ระดับกักเก็บสูงสุดที่ 5 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันมีเกษตรกรทำนาอยู่ 200,000 กว่าไร่ ที่ตั้งของอ่างเก็บน้ำฯนี้อยู่ติดแนวชายแดนประเทศกัมพูชา นายพลากร เดินทางไปชมบริเวณอ่างเก็บน้ำพลาญเสือตอนบนก่อนที่จะปล่อยพันธุ์ปลาและปลูกต้นพยุงด้วย ก่อนที่จะเดินทางไปชมจุดคันคูยุทธศาสตร์ บริเวณบ้านโนนสูง ต.โคมประดิษฐ์ สำหรับคันคูนี้เรียกอีกชื่อว่า คันคูรถถังเป็นการสร้างคูน้ำมาล้อบรอบบ้านโนนสูง เมื่อสมัยสมรภูมิช่องบก ไม่ให้รถถังของข้าศึกผ่านเข้ามาได้ ระหว่างการตรวจเยี่ยม นาย พลากร ได้พูดคุยกับนาย ทองดี ริสา อายุ 52 ปี อดีตอาสาสมัครทหารพราน และนาย เส็ง ดองเกตุ ชาวบ้านที่โดนกับระเบิดขณะหาของป่า ซึ่งนาย เส็ง เล่าว่า เคยใส่ขาเทียมแล้วแต่ไม่ถนัดจึงต้องถอดออกมาใช้ไม้เท้าแทน ส่วนนาย ทองดี เล่าว่า เป็นอาสาสมัครทหารพรานตั้งแต่ปี 2524 จนกระทั่งกันยายน 2534 ขณะรบอยู่ที่ค่ายจ.เลย เกิดล้มป่วยไม่สามารถขยับแขนและขาซีกขวา และถูกสั่งออกจากราชการปี 2536 ขณะนี้ อาการเริ่มดีขึ้น เพราะหมอให้ทำกายภาพบำบัด ส่วนการประกอบอาชีพ ก็ปลูกผัก ปลูกพืช เท่าที่พอทำได้ เพื่อยังชีพและเป็นการรักษาตัวเองด้วย หลังจากการพูดคุยเรื่องชีวิตความเป็นอยู่แล้ว นายพลากร ได้สั่งคณะทำงานให้ติดต่อหามูลนิธิช่วยเหลือนาย ทองดี โดยเร็ว รวมทั้งให้ติดต่อโรงงานทำขาเทียมที่สายบุรี เพื่อหาขาเทียมให้กับนาย เส็ง และยังกำชับว่าทั้งสองกรณีจะต้องมีความคืบหน้าในการช่วยเยียวยา
ธีรวัฒน์