การเปิดงานโครงการพัฒนาเกษตรครบวงจร เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวครบรอบ 87 พรรษา และการติดตามผลการดำเนินงานคลองส่งน้ำจากโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในหมู่บ้านทุ่งเงินต.บ้านตูม อ.นาจะหลวย จ.อุบลราชธานี ของนาย พลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรีพร้อมด้วยนาย ดนุชา สินธวานนท์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หรือกปร.และคณะ
นายสุรพันธุ์ ดิสสะมาน รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ระบุว่า พื้นที่ดังกล่าวในหมู่บ้านทุ่งเงินเป็นพื้นที่ที่ได้รับความช่วยเหลือด้านน้ำในการอุปโภคบริโภคและการเกษตรจากโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยพลาญเสือตอนล่างอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งสามารถช่วยให้เกษตรทำนาได้มากขึ้น และในปีนี้ก็มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการพัฒนาเกษตรแบบครบวงจรกว่า 93 ราย ในพื้นที่การเกษตรกว่า 1,541 ไร่ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมองค์ความรู้การเกษตรที่ถูกต้อง และโครงการเกษตรแบบครบวงจรนี้จะมีการขยายพื้นที่โครงการต่อไปด้วย สำหรับน้ำในอ่างเก็บน้ำห้วยพลาญเสือตอนล่างนี้มีความจุระดับกักเก็บที่ 33.5ล้านลูกบาศก์เมตร และมีจุดประสงค์ในช่วงแรกที่จัดตั้งเนื่องจากต้องการป้องกันการบุกรุกของผู้ก่อการร้ายตามชายแดนโดยทำเป็นทำนบน้ำกั้นข้าศึกโดยรอบ ซึ่งอ่างเก็บน้ำก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2532
ด้านนายพลากร ระบุว่า พื้นที่อ.นาจะหลวยในอดีตเคยมีปัญหาด้านความมั่นคงทางการเมืองจนทำให้เกิดแนวพระราชดำริสร้างอ่างเก็บน้ำเพื่อป้องกันข้าศึกโจมตีและทำเป็นพื้นที่ระบบจ่ายน้ำให้กับประชาชนซึ่งครอบคลุมพื้นที่กว้า 1 พันไร่ ส่วนตัวจึงรู้จักพื้นที่ดังกล่าวนานแล้ว นอกจากนี้ยังระบุว่า น้ำเป็นสิ่งสำคัญของชีวิต หากไม่มีน้ำคนคงอยู่มิได้ ดังนั้นจะต้องช่วยกันจัดสรรน้ำอย่างประหยัดในทุกฤดู เพื่อให้น้ำมีเพียงพอ และทราบมาว่าในช่วงนี้บางพื้นที่ขาดแคลนน้ำ แต่บางพื้นที่ก็ยังไม่ขาดแคลน เชื่อว่าเมื่อถึงฤดูฝนทุกพื้นที่จะมีน้ำเพียงพอใช้
ขณะที่นายแสงอนันต์ โพธิราช ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านตูม เปิดเผยว่า อ่างเก็บน้ำนี้มีคลองส่งน้ำที่ไหลมายังบริเวณอ.นาจะหลวย ซึ่งคลองนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากยุทธศาสตร์ช่องบกที่ป้องกันความมั่นคงชายแดนไทย โดยคลองมีความยาวกว่า 16 กิโลเมตร ใช้หล่อเลี้ยงประชาชนกว่า 4 หมู่บ้าน เช่น หมู่บ้านโนนเจริญ หมู่บ้านทุ่งเงิน ส่วนปีนี้สามารถทำนาปรังได้ในทุกหมู่บ้าน เพราะปริมาณน้ำเพียงพอเนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในเขตชลประทาน โดยส่วนใหญ่ประชาชนทำนาเป็นหลัก อย่างไรก็ดีจะทดลองปลูกปาล์มน้ำมันและยางพารา เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้นพอกับการยังชีพ และเป็นการดึงดูดคนรุ่นใหม่ให้หันมาใส่ใจอาชีพเกษตรกรรม หลังพบว่าคนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่อพยพไปทำงานที่กรุงเทพฯ ทำให้เมื่อมีลูกมักส่งลูกกลับมาให้พ่อแม่ที่ทำนาอยู่แล้วเลี้ยงดูและกลายเป็นปัญหาในพื้นที่ที่เด็กไม่ได้รับการเลี้ยงดูที่ดีพอ จนเกิดปัญหาต่างๆตามมา
ธีรวัฒน์