เกษตรกรโนนดินแดงจ.บุรีรัมย์พลิกฟื้นความแห้งแล้งด้วยโครงการพระราชดำริ

24 เมษายน 2558, 20:10น.

การติดตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในหมู่บ้านหนองสะแกกวน ต.โนนดินแดง อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ ของนาย พลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรีพร้อมด้วยนาย ดนุชา สินธวานนท์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริหรือ กปร.และคณะนั้น

นาย สมชัย กอชัยศิริกุล นายกเทศมนตรีตำบลโนนดินแดง ระบุว่า พื้นที่ดังกล่าวในอดีตเคยเป็นที่อาศัยของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ส่งผลต่อการพัฒนาความเจริญ ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน จนกระทั่งมีโครงการพระราชดำริให้สร้างเขื่อนลำนางรอง อ่างเก็บน้ำจำนวนสามแห่ง เข้ามาพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชน ทำให้ประชาชนได้เข้ามาอาศัย และส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมอาศัยน้ำจากคลองส่งน้ำตามพระราชดำริโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำนางรอง ช่วยให้เกษตรกรสามารถทำนาได้ปีละครั้งหรือบางปีเช่นปีนี้ก็ทำนาปรังได้อีกเป็นสองครั้งต่อปี และกลายเป็นพื้นที่เก็บเกี่ยวผลิตภัณฑ์ทางเกษตรเป็นอันดับต้นๆของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปัจจุบันหมู่บ้านหนองสะแกกวนมีประชากร 613 คน อยู่กินตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง เลี้ยงสัตว์ ปลูกพืชผักปลอดสารพิษและผลไม้ส่งขาย รวมทั้งมีการบริหารจัดการขยะและจัดตั้งธนาคารขยะเพิ่มทรัพย์ โดยให้นำขยะที่ใช้ได้ใหม่นำมาขายให้ธนาคารด้วย

ด้านนาย พลากร กล่าวกับเกษตรกรว่า ไม่ได้มาพื้นที่ดังกล่าวกว่า 30 ปีแล้ว ซึ่งทราบดีว่าแต่ก่อนแห้งแล้งมาก แตขณะนี้พบว่าเปลี่ยนแปลงไปมากด้วยความเจริญต่างๆ และที่มาตรวจเยี่ยมวันนี้เนื่องจากต้องการมาตรวจดูความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะเรื่องน้ำ ซึ่งก็ได้มาติดตามสถานการณ์เขื่อนต่างๆว่ามีปริมาณน้ำพอหรือประสิทธิภาพสมบูรณ์หรือไม่ ขอให้ประชาชนใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าและจัดสรรระบบการใช้น้ำให้ถูกวิธี รวมทั้งควรเก็บไว้ใช้ยามจำเป็น เนื่องจากพบว่าบางปีน้ำมีไม่พอต่อการใช้ด้วย ก่อนที่จะเดินชมแปลงเกษตรและผลไม้ของเกษตรกรบริเวณดังกล่าว

ด้านนาย ต่วน เสาร์มั่น อายุ 77 ปี เกษตรกรหมู่บ้านหนองสะแกกวน กล่าวว่า ส่วนตัวทำนาและสวนผลไม้กว่า 30 ไร่ ในปีนี้สามารถทำนาปรังได้และได้ผลดี ซึ่งก็ให้บุตรและหลานร่วมกันทำตามแต่ละพื้นที่ของตัวเอง โดยพื้นที่ของตัวเองนั้นจะปลูกทั้งข้าว ผักสด มะพร้าว ลิ้นจี่ รวมทั้งจะทดลองปลูกมะนาวด้วย โดยราคาข้าวขณะนี้ตกอยู่ที่ตันละ 6 พันบาท ถือเป็นราคาที่ยอมรับได้ ส่วนในช่วงฤดูฝนทุกปีก็สามารถขายข้าวได้ประมาณ 20-30 ตัน นอกจากนี้ตัวเองยังส่งออกผลไม้ต่างๆและเก็บพืชผักมารับประทานทำให้ไม่เสียค่าใช้จ่ายด้านอาหาร และส่วนมากแล้วประชาชนที่นี้จะอยู่กันแบบพอเพียงช่วยเหลือกัน

จากนั้นนายพลากรพร้อมกับนายดนุชาและคณะได้เดินทางไปเยี่ยมชมอดีตโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปดอยคำที่ปิดโรงงานลงเมื่อปี 2543 เพราะขาดสภาพคล่องก่อนไปสักการะอนุเสาวรีย์เราสู้ เพื่อรำลึกถึงวีรกรรมของประชาชนและเจ้าหน้าที่ที่ร่วมกันต่อสู้กับกลุมคนที่ขัดขวางการสร้างถนนละหานทราย-ตาพระยาจนสามารถสร้างถนนสำเร็จ
ข่าวทั้งหมด

X