*เกษตรกรสามตำบลอ.ขุนหาญ จ.ศรีษะเกษ ใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยตาจู ทำนาได้ทุกปี*

24 เมษายน 2558, 14:22น.


การติดตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริบริเวณอ่างเก็บน้ำห้วยตาจู  อ.ขุนหาญ จ. ศรีสะเกษ ของสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดําริ หรือกปร. ที่มีนาย พลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี เดินทางมาติดตามสถานการณ์  นายชิดชนก สมประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 8 เล่าว่า  อ่างเก็บน้ำนี้สร้างขึ้นตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงเห็นว่าพื้นที่ดังกล่าวประสบภัยแล้งทุกปี โดยสร้างเสร็จเมื่อปี 2538 มีความจุระดับเก็บกักน้ำสูงสุดที่ 22,700,000 ลูกบาศ์กเมตร ซึ่งตั้งแต่มีอ่างเก็บน้ำมาพบว่าปริมาณน้ำล้นทุกปี ส่วนปริมาณน้ำขณะนี้อยู่ที่ 5 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 22 ของความจุทั้งหมด รวมทั้งอ่างดังกล่าวยังมีระบบส่งน้ำออกไปตามคลอง 2 สายทั้งฝั่งขวาและซ้ายกินเนื้อที่กว่า 33 กิโลเมตร ซึ่งส่งน้ำไปเพื่อให้เกษตรกรในต.กันทรอม ต.ขุนหาญและต.โนนสูง จ.ศรีสะเกษได้ใช้ในการเพาะปลูกบนเนื้อที่รวม 13,000 ไร่  ซึ่งทำให้เกษตรกรสามารถทำนาได้ทุกปีปีละสองครั้งทั้งนาปีและนาปรัง โดยในปีนี้ก็ไม่ได้สั่งงดทำนาปรัง เพราะน้ำที่ส่งไปมีปริมาณเพียงพอ ซึ่งเกษตรกรสามารถทำนาปรังได้กว่า 15,000 ไร่ ทั้งที่ตั้งเป้าไว้ว่าน้ำจะเพียงพอต่อการทำนาปรังเพียง 9 พันไร่ในช่วงแรก





อย่างไรก็ดี ขณะนี้เกษตรกรในต.ขุนหาญและต.กันทรอม ขอให้กรมชลประทาน ส่งน้ำเพิ่มอีกในอีกเส้นทางเพื่อสนับสนุนการเกษตรและนำน้ำมาเก็บไว้เป็นแก้มลิง ซึ่งตรวจสอบพบว่าต้องใช้งบประมาณกว่า 36 ล้านบาท และมีเนื้อที่กว่า 14 กิโลเมตร นาย ชิดชนก ระบุว่า หลังจากมีอ่างเก็บน้ำช่วยให้ชีวิตของเกษตรกรดีขึ้น และสามารถทำนาได้ผลเฉลี่ยมากกว่าก่อนมีอ่างเก็บน้ำประมาณ 200-500 กิโลกรัมต่อไร่ หลังจากฟังบรรยายนายพลากร ได้มอบปัจจัยการผลิตของศูนย์พัฒนาการเกษตร เช่น พันธุ์ปลา เป็ดเทศ และไก่ลูกผสม ให้กับตัวแทนเกษตรกรเพื่อนำไปขยายพันธุ์สร้างรายได้ จากนั้นได้ปล่อยพันธุ์ปลาเช่น ปลาบึก ปลาตะเพียนลงยังอ่างเก็บน้ำห้วยตาจูด้วย



ธีรวัฒน์ 

ข่าวทั้งหมด

X