การประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ ( สปช.) วันนี้ เป็นการประชุมต่อเนื่องวันที่ 5 ที่สมาชิกสปช. ให้ความเห็น และเสนอแนะร่างรัฐธรรมนูญร่างแรก มีนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. เป็นประธาน เป็นการพิจารณาต่อเนื่องในส่วนของภาค 2 เรื่องผู้นำการเมืองที่ดีและระบบผู้แทนที่ดี ซึ่งเหลือในหมวด7 เป็นหมวดสุดท้าย เรื่องการกระจายอำนาจและการบริหารท้องถิ่น
นายวุฒิสาร ตันไชย กรรมาธิการ(กมธ.)ยกร่างรัฐธรรมนูญ ชี้แจงว่า การจัดทำรัฐธรรมนูญ ในส่วนของการกระจายอำนาจและการบริหารท้องถิ่นลำดับแรก ได้ดำรงเจตจำนงตามรัฐธรรมนูญปี2540 และ 2550 ในการกระจายอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตลอด 20 ปี และรักษาสิ่งที่เป็นประโยชน์ ปรับแก้ส่วนที่เป็นปัญหา เช่น การทับซ้อนในอำนาจหน้าที่ของการบริหารท้องถิ่น และการได้มาของผู้แทนในอดีต ส่วนการเปลี่ยนชื่อจาก "องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น" มาเป็น"องค์กรบริหารท้องถิ่น" ก็เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับการใช้อำนาจในท้องถิ่นมากขึ้น ด้วยการเปลี่ยนการบริหารจากส่วนกลางลงมาสู่ท้องถิ่น หรือจากแนวดิ่งมาเป็นแนวราบ โดยรัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องการให้องค์กรที่ใกล้ชิดประชาชนที่สุด จัดการบริหารพื้นที่สาธารณะของประชาชนให้มีความเป็นอิสระได้มากขึ้น
ด้านนพ.กระแส ชนะวงศ์ รองประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ยกร่างรัฐธรรมนูญ คนที่1 ชี้แจงว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีจุดดีในการกระจายอำนาจไปยังองค์กรบริหารท้องถิ่นใน 4 เสาหลัก คือ การตรวจสอบการบริหารงานท้องถิ่นอย่างเปิดเผย มีความชัดเจนและยืดหยุ่นมากขึ้น โดยประชาชนมีส่วนร่วมในการเสนอความเห็น ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยส่วนกลางจะกำหนดสิ่งที่ท้องถิ่นต้องปฏิบัติให้น้อยลง เพื่อเปิดโอกาสให้ท้องถิ่นสามารถทำในสิ่งที่ต้องการมากขึ้น และรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ให้งบประมาณ และทรัพยากรแก่องค์กรบริหารท้องถิ่นอย่างชัดเจน มั่นใจว่า ถ้าการบริหารองค์กรปกครองท้องถิ่นมีความเข้มแข็ง ก็จะทำให้การเมืองระดับชาติมีความมั่นคงมากขึ้น ขณะที่ในช่วงบ่าย ก็จะขึ้นการพิจารณาในภาค3 ในเรื่องหลักนิติธรรม ศาล และองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ
วิรวินท์