*ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้เวลา07.30น.*

24 เมษายน 2558, 07:42น.


+++นายมาร์ค ลากอน อดีตผู้แทนพิเศษด้านการค้ามนุษย์ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ซึ่งปัจจุบันเป็นประธานองค์กรพัฒนาด้านสิทธิมนุษยชน ฟรีดอม เฮาส์ แถลงต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมาธิการวิเทศ สัมพันธ์ของสภาผู้แทนราษฎร ว่าอุตสาหกรรมประมงของไทยมีการใช้แรงงานที่ผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการออกเรือจับสัตว์น้ำ กระบวนการผลิตอาหารทะเล และการบรรจุภัณฑ์ จึงกำลังจับตาดูท่าทีของรัฐบาลสหรัฐฯ ของประธานาธิบดี บารัค โอบามา ในการดำเนินการคว่ำบาตรสินค้าประมงจากไทย หลังพบการละเมิดสิทธิมนุษยชนในอุตสาหกรรมประมงไทย



+++นายคริส สมิธ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรัฐนิวเจอร์ซีย์ เปิดเผยว่า ทั้งไทย พม่า และมาเลเซีย จะต้องพยายามมากขึ้นในการจัดการปัญหาการค้ามนุษย์ข้ามพรมแดน ไม่เช่นนั้นสหรัฐฯอาจใช้อำนาจทางกฎหมาย ฟ้องร้องดำเนินคดี และการสืบสวน เพื่อเรียกร้องให้ชาติเหล่านั้นมีการเปลี่ยนแปลงที่เห็นผลในการต่อสู้กับการใช้แรงงานทาส  สำนักข่าวเอพี รายงานว่า กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ จัดอันดับการค้ามนุษย์ของไทยอยู่ในอันดับเทียร์ 3 ซึ่งเป็นอันดับที่ลงโทษด้วยการคว่ำบาตร และหลายองค์กรไม่แสวงผลกำไรก็เรียกร้องให้มีการคว่ำบาตรประเทศไทยมาตั้งแต่การเปิดเผยรายงานละเมิดสิทธิมนุษยชนเมื่อเดือน มิ.ย.



+++พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ชี้แจงเรื่องนี้ว่า ไม่ควรกังวลเพราะขั้นตอนยังไม่ถึงการคว่ำบาตร และมีการพูดคุยอยู่แล้ว เรื่องนี้ต้องเปิดเผยและต้องการให้ทุกคนเห็นว่า เมื่อทำไม่ดีก็ต้องแก้ไข ไม่ใช่ปิดบังซ่อนเร้นและเกิดปัญหาทั้งระบบ ส่วนความร่วมมือระหว่างไทยกับอินโดนีเซีย เห็นพ้องจัดตั้งคณะทำงานด้านการประมง ฝ่ายอินโดนีเซียมีรัฐมนตรีกระทรวงกิจการทะเลและประมง เป็นคณะทำงาน ฝ่ายไทยประกอบด้วย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อประสานความร่วมมือการแก้ไขปัญหาและวางแนวทางความร่วมมือในระยะยาวต่อกัน รัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมายในน่านน้ำต่างประเทศ โดยถือเป็นวาระแห่งชาติ และหวังว่าเร็วๆนี้ทั้งสองประเทศจะมีการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการประมงระหว่างกัน  พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย รับปากว่าจะช่วยดูแลเรือประมงไทย รวมถึงลูกเรือที่ถูกกักบริเวณอยู่บนเกาะประเทศอินโดนีเซีย อินโดนีเซียจะปิดน่านน้ำ 60 วันเพื่อเคลียร์ โดยระหว่างนี้จะคุยกับไทยว่าแก้ไขปัญหากันอย่างไร เมื่อสามารถเคลียร์ได้อะไรถูกอะไรผิดก็ต้องมาว่ากันทางกฎหมาย และจะใช้มาตรา 44 แก้ปัญหาให้เกิดความรวดเร็ว บูรณาการและประสานงานในกรณีติดขัดข้อกฎหมาย แต่เมื่อใช้มาตรา 44 แล้ว ทั้งหมดต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมด้วย



+++พล.อ.ประวิตร ตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจขึ้นมาตรวจสอบเรือประมงใน22จังหวัด ตรวจสอบเรือประมงจำนวน 319 ท่าเรือ โดยชุดเฉพาะกิจนี้จะมีอธิบดีกรมเจ้าท่าเป็นหัวหน้าชุด ทำงานร่วมกับทุกหน่วยงานรวมทั้งกองทัพเรือ มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดทำแผนปฎิบัติการเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) ภายในสองสัปดาห์ด้วย



+++ความคืบหน้าการเอาผิดข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องทุจริต นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวว่า ได้มอบหมายให้นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และในฐานะเลขานุการศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ไปหาข้อมูลมาเพิ่ม เนื่องจากเห็นว่ามีข้าราชการบางคนใน 100 รายชื่อพัวพันการทุจริตที่ส่งให้นายกฯ ยังไม่มีความชัดเจน ในความผิดตามที่เสนอมา นายประยงค์ ได้มาชี้แจงใหม่อีกครั้ง โดยให้ตรวจสอบย้อนกลับไปถึงระดับผู้บังคับบัญชาของข้าราชการที่เกี่ยวข้องด้วย



+++ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการสืบข้อเท็จกรณีปัญหาการทุจริตการก่อสร้างอาคารพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ จำนวน 360 ล้านบาท ที่มี นพ.กำจร ตติยกวี ปลัด ศธ. เป็นประธาน ได้ส่งผลสืบข้อเท็จจริงให้แล้ว โดยคณะกรรมการให้ความเห็นว่ามีมูลส่อไปในทางทุจริตจริง ส่วนจะต้องตั้งกรรมการสอบสวนวินัยนายสมศักดิ์ ตาไชย เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) หรือให้ยกเลิกสัญญาจ้างและดำเนินการทางกฎหมายเป็นคดีอาญาหรือไม่ ยังไม่สามารถบอกได้  สั่งการให้สำนักนิติการไปพิจารณารายละเอียดข้อกฎหมายให้ชัดเจนและเสนอแนวทางกลับมาเพื่อพิจารณาและสั่งการต่อไป และการประชุมคณะกรรมการร่วม 3 หน่วยงาน นัดแรกวันที่ 24 เมษายน จะหารือเรื่องการบริหารงานว่ามีอะไรที่ต้องเดินหน้า หรือต้องดูรายละเอียดอะไรเพิ่มเติมบ้าง ซึ่งในส่วนของผลการตรวจสอบการทุจริต คงจะหารือในครั้งต่อๆ ไป



+++การทำงานของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)  นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานป.ป.ช. กล่าวถึงความคืบหน้าการสอบกรณี การจัดซื้อปุ๋ยและยาปราบศัตรูพืชราคาแพงเกินจริงในหลายจังหวัด ว่า ป.ป.ช.กำลังดำเนินการสอบสวนอยู่โดยตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนไปแล้ว ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาจะเป็นระดับผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย เช่น รองผู้ว่าฯ และนายอำเภอ ขณะนี้กำลังขอข้อมูลจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และกระทรวงมหาดไทยเพิ่มเติม อย่างไรก็ตามในส่วนนี้ต้องรีบดำเนินการ หากข้อมูลชัดเจนแล้วก็อาจจะส่งรายชื่อข้าราชการที่เกี่ยวข้องให้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)พิจารณาด้วย



+++การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ทำหน้าที่ประธานในการประชุม ถอดถอนนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายภูมิ สาระผล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ออกจากตำแหน่ง แถลงเปิดสำนวนตามรายงานและความเห็นของป.ป.ช. หลังจากนี้ ผู้กล่าวหาและผู้ถูกกล่าวหา แจ้งขอแถลงปิดสำนวนคดีด้วยวาจาภายใน 7 วัน นับตั้งแต่วันแถลงเปิดคดี ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 29 เม.ย.และหากจะแถลงปิดคดีด้วยเอกสารภายในวันที่ 5 พ.ค. ให้สมาชิกยื่นญัตติซักถามได้ถึงวันที่ 27 เม.ย. เวลา 12.00 น. เพื่อพิจารณาให้มีการซักถามคู่กรณีในวันที่ 30 เม.ย. และได้ตั้งคณะกรรมาธิการซักถามจำนวน 7 คน นำโดยนายกิตติศักดิ์ รัตนะวราหะ สมาชิก สนช.



+++การประชุมสภาปฎิรูปแห่งชาติ(สปช.) เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกต่อเนื่องเป็นวันที่ 5  ประชุม สปช.ได้พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ผ่าน ทั้งสิ้น 3 หมวด ได้แก่ หมวด 4 คณะรัฐมนตรี หมวด 5 การคลังและการงบประมาณ และหมวด 6 ความสัมพันธ์ระหว่างข้าราชการ นักการเมือง และประชาชน ซึ่งบรรยากาศเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและผ่านไปอย่างราบรื่น รวมเวลาการอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญ ตลอด 4 วันใช้เวลากว่า 46 ชั่วโมง



+++กมธ.ยกร่างฯ ได้จัดทำหนังสือ สาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูป จำนวน 1 แสนเล่ม ซึ่งเป็นการสรุปสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้จะแจกจ่ายให้สมาชิก สปช.ในวันที่ 24 เม.ย. จากนั้นจะทยอยแจกจ่ายประชาชนในเวทีรับฟังความคิดเห็น 12 เวที ใน 12 จังหวัด และใน 3 เวทีของกมธ.ยกร่างฯ         



+++ นายประชา เตรัตน์ กมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึง การทำประชามติรัฐธรรมนูญว่า กมธ.ยกร่างฯกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ เห็นพ้องให้ทำประชามติ แต่จะทำหรือไม่เป็นอำนาจของ คสช.



+++พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญคาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในปี 2558 เพื่อนำไปสู่การประกาศการจัดการเลือกตั้งทั่วไป ในช่วงปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า สะท้อนให้เห็นการกลับมาเป็นประชาธิปไตยของไทยอย่างยั่งยืน



+++ศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) ได้เชิญ นักการเมือง นักวิชาการ และคอลัมนิสต์ กว่า 80 คน หารือเพื่อรับฟังความคิดเห็น แก้ไขปัญหาความขัดแย้ง  รายงานระบุว่า บรรยากาศในที่ประชุมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย  ศปป. ได้เปิดโอกาสให้ผู้ที่ถูกเชิญมาได้แสดงความคิดเห็นอย่างหลากหลาย โดยเฉพาะในส่วนของพรรคการเมือง  เช่น พรรคเพื่อไทย  และพรรคประชาธิปัตย์ ต่างเห็นตรงกันว่าแม้แต่ละ ฝ่ายจะมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน แต่ควร ให้ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันได้บนพื้นฐานของความเป็นประชาธิปไตย และความยุติธรรม โดยกระบวน การทางกฎหมายต้องปฏิบัติอย่างเท่าเทียม นอกจากนี้ในส่วนของพรรคเพื่อไทยและแกนนำ นปช. ต่างเสนอให้ทาง คสช.ลดเงื่อนไขความไม่สบายใจของประชาชน โดยพิจารณาให้ผู้ที่ถูกจำคุกจากเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองช่วงที่ผ่านมา ได้มีโอกาสประกันตัวซึ่งจะช่วยลดปัญหาความขัดแย้งได้อีกทางหนึ่ง เพื่อก้าวเข้าสู่ความปรองดองอย่างแท้จริง ซึ่งทางเสนาธิการทหารรับปากว่าจะนำเสนอเรื่องต่อหัวหน้า คสช.ต่อไป



+++ที่ประชุมได้มีข้อเสนอแนะถึงร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังพิจารณาในขณะนี้ว่ายังมีปัญหา หากร่างรัฐธรรมนูญยังออกมาในรูปแบบนี้ประเทศไปไม่รอด เกิดปัญหาความขัดแย้งไม่จบสิ้น โดยที่ประชุมได้มีการเสนอว่า ต้องมีการเปิดเวทีให้ ทุกฝ่ายได้แสดงความคิดเห็นเพื่อร่วมกันหาทางออก ขณะที่พรรคการเมืองเสนอว่าควรเปิดเวทีให้ผู้เห็นต่าง รวมถึงพรรคการเมืองได้แสดงความเห็นและซักถาม กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญโดยตรง เหมือนกับเวทีอภิปรายของสภาปฏิรูปแห่งชาติ โดย ศปป.ได้รับปากว่าจะนำข้อเสนอดังกล่าวเสนอต่อผู้มีอำนาจต่อไป



 



 



 



 

ข่าวทั้งหมด

X