*รมว.เกษตรฯรับใช้กม.พิเศษ/ม.44อุดช่องว่างแก้ปัญหาประมงไทยหลังอียูให้ใบเหลือง

22 เมษายน 2558, 12:15น.


การแก้ไขปัญหาประมงไทยหลังจากที่สหภาพยุโรปหรืออียูได้ใบเหลืองให้ไทย นายปิติพงษ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยอมรับว่า เจ้าหน้าที่อียูเข้าตรวจสอบและเคยตักเตือนเป็นการภายในมาแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2557 โดยให้ไทยแก้ไขปัญหาใน 3-4 เรื่องหลัก คือ การปรับปรุงกฎหมาย การจัดทำแผนปฎิบัติการระดับชาติในด้านการประมง การจัดระบบการตรวจสอบสินค้าเรือประมงและการมีระบบติดตามตรวจสอบย้อนหลัง โดยอียูให้ระยะเวลา 180 วันหรือหกเดือนนับจากวานนี้ โดยอียูจะส่งเจ้าหน้าที่มาประเมินผลอย่างเป็นทางการในช่วงปลายตุลาคม เพื่อนำไปกลับไปพิจารณา หากเป็นที่พอใจของอียู อียูก็จะให้ใบเขียว ซี่งไทยสามารถส่งสินค้าได้ปกติ แต่หากประเมินแล้วพบว่าการแก้ไขไทยไม่คืบหน้าก็มีสิทธิโดนใบแดง ซี่จะส่งผลให้ไทยไม่มีสิทธิส่งสินค้าไปขายยังประเทศกลุ่มอียูได้ และจะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างรุนแรง เพราะปัจจุบันสินค้าประมงไทยที่ส่งไปขายมีมูลค่ามากกว่า 30,000 ล้านบาทต่อปี



สำหรับการแก้ไขปัญหา ในส่วนกฎหมายต้องมีการปรับปรุงให้สอดคล้องกับอียู โดยอาจมีการออกพระราชกำหนดหรือใช้อำนาจตามม. 44 ของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เพื่ออุดช่องว่างทางกฎหมายไปก่อน เช่น การบัญญัติให้เจ้าหน้าที่มีสิทธิขึ้นตรวจค้นเรือได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย บัญญัติให้เครื่องมือประมงบางประเภทที่มีไว้ครองครองเป็นสิ่งผิดกฎหมาย หลังปัจจุบันมีชาวประมงจำนวนมากที่มีเครื่องมือประมงผิดกฎหมายแต่ไม่สามารถดำเนินคดีได้ เพราะไม่ได้นำมาใช้ และบัญญัติให้เจ้าหน้าที่มีสิทธิห้ามเรือเข้าออกฝั่ง หากพบการกระทำผิด ส่วนกฎหมายบางส่วนที่ยังไม่ครอบคลุม เช่น การที่แรงงานไทยไปทำผิดนอกน่านน้ำและการไปทำผิดชายขอบน่านน้ำก็จะต้องมีมาตรการดำเนินการ โดยจะนำไปหารือกับคสช.อีกครั้ง และยืนยันว่าต้องรีบดำเนินการเพื่อให้มีผลเป็นรูปธรรม



ด้านการจัดทำแผนปฎิบัติการระดับชาติระหว่างปี 2558-2562 นั้น คงต้องทำให้แล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์นี้และเสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการของอียูและเป็นการจัดระเบียบประมงไทยให้ถูกต้อง โดยขณะนี้มีคณะทำงานประสานกับฝ่ายอียู และรัฐบาลกำลังเร่งรัด



ส่วนการแก้ปัญหาการตรวจสอบสินค้าและการทำระบบตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังนั้น และฝึกอบรมแรงงานประมง การเชื่อมโยงระบบข้อมูลของผู้ประกอบการ ชาวประมง และยังมีการเปิดท่า 4 ท่าเพื่อทดสอบระบบการตรวจสอบโดยจะแล้วเสร็จเดือนนี้ รวมทั้งจะมีการติดเครื่องมือติดตามเรือที่มีระวางเกิน 60 ตันกรอซ์ขึ้นไป ส่วนเรือที่มีระวางเล็กกว่าอาจมีมาตรการอื่นติดตามการตรวจสอบ



สำหรับปัญหาของการตรวจสอบเรือและติดตามข้อมูลคือ การขาดใบรับรองการจับสัตว์น้ำในแต่ละประเทศของประมงไทย ซึ่งรัฐบาลจะไปเจรจากับประเทศต่างๆ เพื่อทำให้การออกจับปลาในน่านน้ำเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และเชื่อว่าทุกประเทศจะให้ความร่วมมือเพราะถูกใบเหลืองเช่นกัน

ข่าวทั้งหมด

X