พระสุเทพ ปภากโร หรือนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี พระชินวรณ์ จันทสาโร หรือนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และนายทวีศักดิ์ ณ ตะกั่วทุ่ง ทนายความ เข้ามาให้ถ้อยคำเพิ่มเติมต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรณีถูกกล่าวหาสั่งการสลายการชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อปี 2553หลังจากเข้าให้ถ้อยคำต่อองค์คณะไต่สวน คณะกรรมการ ป.ป.ช.เกือบ 3 ชั่วโมง พระสุเทพ กล่าวว่า ได้อธิบายให้องค์คณะไต่สวน คณะกรรมการ ป.ป.ช. ในหลายประเด็น โดยประเด็นสำคัญที่สุดคือได้นำคลิปและภาพนิ่งของกองกำลังชายชุดดำติดอาวุธซึ่งออกมาฆ่าประชาชนและจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งเป็นคลิปที่เผยแพร่ทางสื่อมวลชนในขณะนั้น เพื่อให้เห็นชัดว่า เหตุการณ์ดังกล่าวมีผู้ก่อเหตุร้ายแรง ทำให้เกิดความสูญเสีย
นอกจากนี้ยังได้อธิบายแต่ละคำสั่งของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ในฐานะที่เป็นผู้อำนวยการขณะนั้น ได้สั่งให้ตั้งด่านและจุดตรวจล้อมรอบพื้นที่บริเวณราชประสงค์ ไม่ได้เคลื่อนไปหากลุ่มผู้ชุมนุม แต่เหตุการณ์ที่มีการปะทะที่ด่านตรวจเหล่านั้นเกิดจากกองกำลังติดอาวุธของกลุ่มผู้ชุมนุมเข้าโจมตี ซึ่งเท่าที่ได้สอบถามกับเจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจ ต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า มีกลุ่มชายชุดดำเข้าโจมตี โดยกลุ่มคนดังกล่าวมีความเชี่ยวชาญในการใช้อาวุธ มีการฝึกฝนมาอย่างดี และมียุทธวิธีปฏิบัติการคล้ายกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ
ส่วนกรณีที่ปรับเปลี่ยนยุทธวิธีควบคุมกลุ่มผู้ชุมนุมนั้น พระสุเทพ กล่าวว่า ปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ เช่น เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2553 ได้ให้เจ้าหน้าที่กดดันขอคืนพื้นที่จราจร แต่ปรากฏว่าไม่ได้ผล และมีกองกำลังติดอาวุธชายชุดดำเข้ามาทำร้ายเจ้าหน้าที่ ทำให้เจ้าหน้าที่บาดเจ็บและเสียชีวิต จากนั้นเมื่อวันที่ 13-18 พ.ค. 2553 จึงปรับเปลี่ยนยุทธวิธีเป็นการตั้งด่านสกัดรอบพื้นที่ชุมนุมเพื่อป้องกันไม่ให้กลุ่มผู้ชุมนุมเคลื่อนไหว และไม่ให้มีการเติมคน ไม่ให้มีการขนอาวุธ และลดการใช้สาธารณูปโภคในพื้นที่ เพื่อกดดันเลิกการชุมนุมไปเอง ต่อมามีการยิง M79 ไปบนสถานีรถไฟฟ้า และทั่วสารพัดทิศในพื้นที่สวนลุมพินี จนทำให้เจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนผู้บริสุทธิ์เสียชีวิต ซึ่งจัดตั้งด่านสกัดเหมือนเดิมไม่ได้ จึงต้องส่งกำลังคนเข้าควบคุมพื้นที่ ซึ่งไม่มีทางเลือก เหตุการณ์วันที่ 19 พ.ค. 2553 จึงเกิดขึ้น
ส่วน คณะกรรมการ ป.ป.ช.ติดใจเรื่องการใช้กระสุนจริงหรือไม่ นายสุเทพ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ใช้ปืนลูกซองและกระสุนยาง ต่อมาเมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2553 มีเจ้าหน้าที่บาดเจ็บและเสียชีวิต จึงมีคำสั่งให้ใช้อาวุธปืนและกระสุนจริง เพื่อป้องกันตัวเองและผู้บริสุทธิ์จากกลุ่มกองกำลังชายชุดดำ แต่ก็มีกฎในการใช้อาวุธเพื่อความจำเป็น ในการรักษาชีวิตเจ้าหน้าที่รัฐและผู้บริสุทธิ์ และต้องไม่มุ่งเอาชีวิตของเป้าหมาย
โดยการให้ถ้อยคำครั้งนี้ คิดว่าครบถ้วน ส่วน ป.ป.ช.จะพิจารณาอย่างไร ก็อยู่ที่ดุลยพินิจของ ป.ป.ช. หากมีการชี้มูลในส่วนของการถอดถอน ก็พร้อมจะเข้าไปชี้แจงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก็ดีเหมือนกันจะได้ห่มจีวรเข้าสภาสักครั้ง หากในส่วนของคดีอาญา ก็พร้อมจะไปขึ้นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พร้อมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ไม่กังวลใจ และยืนยันว่าไม่หลบหนีไปไหน เป็นคนไทยต้องเคารพกฎหมายไทย นอกจากนั้นยังยืนยันว่า ไม่ต้องการเพิ่มพยาน เพราะเป็นคนออกทุกคำสั่งเอง และเจ้าหน้าที่ก็ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว
ส่วนกรณี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขอเพิ่มพยาน 2 ปาก คือนายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่ชาติ (สมช.) และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีตผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ขณะนี้ ป.ป.ช. ได้ประสานงานไปที่นายถวิลแล้ว โดยนัดหมายว่านายถวิลจะมาด้วยตัวเองในวันที่ 28 เม.ย. 2558 ส่วน พล.อ.อนุพงษ์ ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการประสาน แต่เบื้องต้นทราบว่า อาจจะชี้แจงด้วยเอกสาร