หลังจากมีการเปิดรับสมัคร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ระหว่างวันที่ 3-7 เม.ย.66 เมื่อผู้สมัครได้รับเบอร์หมายเลขในการสมัครแล้ว สามารถหาเสียงได้ทันที
คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ระบุ ข้อปฎิบัติและข้อห้ามในการหาเสียง ตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.เพื่อป้องกันการถูกร้องเรียนว่าทำผิดกฎหมาย
-การไปร่วมงานประเพณี เช่น งานแต่งงาน งานบวช งานศพ สามารถไปและมอบพวงหรีดดอกไม้สดได้ แต่ต้องไม่ให้เงินหรือทรัพย์สิน ไม่สามารถประกาศชื่อ หมายเลขของผู้สมัครและหรือพรรคการเมือง ในลักษณะช่วยหาเสียงเลือกตั้งได้ หากมีความจำเป็นต้องจัดพิธีงานต่างๆ ช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ก็ต้องจัดได้เท่าที่จำเป็น เช่น งานศพ งานบวช งานแต่งงาน หลีกเลี่ยงงานขนาดใหญ่ ที่มีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก
-สามารถเข้าไปหาเสียงเลือกตั้งในโรงเรียน สถานที่ราชการได้ แต่ต้องขออนุญาตจากเจ้าของพื้นที่ก่อน
-ที่สำคัญคือ ไม่สามารถมอบสิ่งของช่วยเหลือประชาชนจากเหตุอุทกภัย วาตภัย อัคคีภัย และโรคระบาดได้
-ห้ามเสนอให้หรือสัญญาว่าจะให้ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใด ไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อมแก่บุคคล ชุมชน สมาคม มูลนิธิ วัด สถานศึกษา สถานสงเคราะห์ หรือสถาบันอื่นใด
-ห้ามหาเสียงด้วยการจัดเลี้ยง มหรสพหรืองานรื่นเริงต่างๆ
-ห้ามหลอกลวง บังคับ ขู่เข็ญ ใช้อิทธิพลคุกคาม ใส่ร้ายด้วยความเท็จ หรือจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมือง
-ผู้สมัครสามารถแจกเอกสาร วิดีโอเกี่ยวกับการหาเสียง โดยระบุ ชื่อ รูปถ่าย หมายเลขประจำตัวผู้สมัคร ประวัติส่วนตัว ชื่อและสัญลักษณ์ รวมถึงนโยบายของพรรคได้
-จัดสถานที่หรือเวทีเพื่อโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งได้
-ใช้เครื่องขยายเสียงเพื่อช่วยในการหาเสียงเลือกตั้ง
-หาเสียงเลือกตั้งทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือสื่อโซเชียลได้
-ห้ามนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาเกี่ยวข้องกับการหาเสียงเลือกตั้ง
-ห้ามนักแสดง นักร้อง นักดนตรี สื่อมวลชน ใช้ความสามารถเพื่อเอื้อประโยชน์ในการหาเสียงเลือกตั้งแก่ผู้สมัครอื่น หรือพรรคการเมือง
-ห้ามแจกจ่ายเอกสารเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้งโดยวิธีการวางหรือโปรยในที่สาธารณะ
-ห้ามหาเสียงเลือกตั้งโดยใช้ถ้อยคำที่รุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย หรือปลุกระดม
#ข้อห้ามหาเสียง
#ข้อควรปฎิบัติ
#เลือกตั้ง66