เกาะติดบรรยากาศการรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตในกรุงเทพมหานคร หลังจากพรรคการเมือง กองเชียร์และผู้สนับสนุนของแต่ละพรรค ทยอยเดินทางมาถึงสถานที่รับสมัคร คือที่อาคารกีฬาเวสน์ 2 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพฯ (ไทย-ญี่ปุ่น) โดยภายในอาคาร ทางคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานคร จัดโต๊ะรับสมัครเรียงตามเขตเลือกตั้ง 1-33 เขต แบ่งเป็น 2 ฝั่ง คือ ฝั่งซ้าย เขต1 -16 ฝั่งขวา เขต 17-33 ส่วนบริเวณโถงกลาง จัดวางเก้าอี้นั่งสำหรับผู้ติดตามของแต่ละพรรคการเมือง ซึ่งได้รับอนุญาตให้ลงทะเบียนและรับบัตรคล้องคอ เพื่อเข้ามาให้กำลังใจผู้สมัครภายในสถานที่รับสมัครได้ เขตละ 1 คน กองเชียร์อื่นๆ จะขึ้นไปนั่งบนอัฒจันทร์ซึ่งมีความจุรองรับ 1,500 คน
ส่วนด้านนอก เจ้าหน้าที่ตั้งโต๊ะตรวจเอกสารการรับสมัครเพื่ออำนวยความสะดวก โดยเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มาตรวจดูความเรียบร้อยของสถานที่และการทำงานของเจ้าหน้าที่ ส่วนนายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. ก็มาดูความเรียบร้อยในการรับสมัครด้วย ซึ่งเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ไปถึงผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบ่งเขต ให้เตรียมเอกสารให้ครบถ้วน เนื่องจาก ถ้าขาดเอกสารอย่างใดไป จะไม่สามารถสมัครได้
ในขณะที่แกนนำแต่ละพรรค ก็ทยอยเดินทางเข้าอาคารกีฬาเวสน์ 2 เพื่อให้กำลังใจ และรอกระบวนการจับหมายเลขประจำตัวที่ใช้ในการหาเสียงของผู้สมัคร ปรากฏว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการกำหนดแนวทางและยุทธศาสตร์พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) นั่งเก้าอี้เคียงข้างกัน และพูดคุยหยอกล้อกันด้วย
ส่วนหมายเลขของผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งในกรุงเทพมหานคร ผู้สมัครแต่ละคนได้หมายเลขของตัวเองแล้ว โดยผู้สมัคร ส.ส แต่ละเขต จะได้หมายเลขประจำตัวของตัวเอง ซึ่งแม้จะอยู่พรรคเดียวกัน แต่ลงคนละเขต ก็จะได้เบอร์ไม่เหมือนกัน โดยในช่วงเย็นวันนี้ กกต.กทม.จะประกาศหมายเลขประจำตัวของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ทุกเขตให้ทราบ ซึ่งประชาชนที่จะไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ต้องจำทั้งหมายเลขผู้สมัคร ส.ส.เขต และหมายเลขของ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ซึ่งจะมีการจับหมายเลขกันในวันพรุ่งนี้
ซึ่งในการเลือกตั้งปี 66 นี้ ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จะต้องกาบัตร 2 ใบ คือ เลือก ส.ส.เขตและส.ส.บัญชีรายชื่อ (เลือกพรรค) โดยบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ จะมีสีแตกต่างกัน คือ บัตรเลือกตั้ง ส.ส.แบ่งเขต จะมีเฉพาะเบอร์ของผู้สมัคร/บัตรเลือกตั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ จะมีทั้งเบอร์ โลโก้และชื่อพรรค ซึ่งนายแสวง ชี้แจงเรื่องบัตรเลือกตั้งว่า ในการเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วไป พ.ศ. 2566 ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ คือ แบบบัญชีรายชื่อ และแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง แม้จะเป็นพรรคเดียวกันแต่เป็นคนละหมายเลข ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กกต.เป็นเพียงผู้กำหนดรูปแบบบัตรให้เป็นไปตามกฎหมายเท่านั้น
สำหรับการรับสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง จะมีไปจนถึงวันที่ 7 เม.ย.2566 ที่อาคารกีฬาเวสน์ 2 ศูนย์เยาวชนไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง 08.30 น.-16.30 น.
ส่วนการรับสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และพรรคการเมืองแจ้งบัญชีรายชื่อบุคคลที่แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี จะเกิดขึ้นในวันที่ 4-7 เม.ย.2566 ที่ห้องบางกอก อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร
หลังจากนี้ แต่ละพรรค จะนำผู้สมัคร ส.ส.ที่ได้หมายเลขแล้ว ไปหาเสียงทันที บางพรรคนัดหมายไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อเอาฤกษ์เอาชัยก่อนลงพื้นที่หาเสียง
ด้านนายฐิติเชฏฐ์ นุชนาฎ กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงภาพรวมการรับสมัคร ส.ส. 33 เขตของกรุงเทพมหานครว่า กกต.พอใจการเปิดรับสมัครในวันนี้ ซึ่งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยเจ้าหน้าที่ได้เตรียมความพร้อมมาเดือนเศษ ปัญหาต่างๆที่เคยเกิดขึ้นในการรับสมัครส.ส.เมื่อปี 2562 ก็ถอดบทเรียน และกรรมการการเลือกตั้งแต่ละคนก็ได้ลงพื้นที่สังเกตการณ์ในแต่ละจังหวัด จึงเชื่อว่าในการรับสมัครครั้งนี้จะไม่มีปัญหา
หลังปิดการรับสมัครทาง กกต.จะทำการตรวจสอบคุณสมบัติภายใน 7 วัน และประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง หากใครไม่มีรายชื่อ ก็สามารถยื่นร้องต่อศาลฎีกา โดยขณะนี้ผู้สมัครได้เลขประจำตัวแล้วสามารถหาเสียงได้ทันที ส่วนผู้สมัครบางคนที่ในวันนี้เตรียมเอกสารมาไม่ครบถ้วน ซึ่งพบว่าไม่ได้นำใบรับรองการส่งสมัครของหัวหน้าพรรคมายื่นก็ยังสามารถมายื่นใหม่ได้ เพราะยังเปิดรับสมัครถึงวันที่ 7 เม.ย.
ทั้งนี้ สิ่งที่ กกต.เป็นกังวลคือเรื่องการจัดรถแห่ ถ้าได้เบอร์แล้วไม่ควรแห่ออกไป เพราะอาจเข้าข่ายจัดมหรสพรื่นเริงสุ่มเสี่ยงต่อการผิดกฎหมาย ขณะเดียวกันอยากขอความร่วมมือพรรคการเมือง และผู้สมัครในเรื่องการติดป้ายหาเสียง ที่พบว่ามีหลายป้ายติดบดบังทัศนวิสัยการสัญจรของผู้ใช้ถนน อยากให้มีการปรับเปลี่ยนเพราะถ้าหากไม่มีการแก้ไขเจ้าหน้าที่จะดำเนินการจัดเก็บ ส่วนกรณีที่ศาลปกครองกลางนัดฟังคำพิพากษาเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้งในวันที่ 7 เม.ย. นายฐิติเชฏฐ์ กล่าวว่า ขอไม่ก้าวล่วง ขอรอฟังคำพิพากษาศาลปกครองในวันดังกล่าวก่อน แต่ กกต.ได้เตรียมความพร้อมต่างๆไว้แล้ว
โดยข้อปฎิบัติและข้อห้ามในการหาเสียง เพื่อป้องกันการถูกร้องเรียนว่าทำผิดกฎหมาย คือ การไปร่วมงานประเพณี เช่น งานแต่งงาน งานบวช งานศพ สามารถไปและมอบพวงหรีดดอกไม้สดได้ แต่ต้องไม่ให้เงินหรือทรัพย์สิน ไม่สามารถประกาศชื่อ หมายเลขของผู้สมัครและหรือพรรคการเมือง ในลักษณะช่วยหาเสียงเลือกตั้งได้ หากมีความจำเป็นต้องจัดพิธีงานต่างๆ ช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ก็ต้องจัดได้เท่าที่จำเป็น เช่น งานศพ งานบวช งานแต่งงาน หลีกเลี่ยงงานขนาดใหญ่ ที่มีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก
สามารถเข้าไปหาเสียงเลือกตั้งในโรงเรียน สถานที่ราชการได้ แต่ต้องขออนุญาตจากเจ้าของพื้นที่เสียก่อน และที่สำคัญคือ ไม่สามารถมอบสิ่งของช่วยเหลือประชาชนจากเหตุอุทกภัย วาตภัย อัคคีภัย และโรคระบาดได้
ห้ามเสนอให้หรือสัญญาว่าจะให้ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใด ไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อมแก่ บุคคล ชุมชน สมาคม มูลนิธิ วัด สถานศึกษา สถานสงเคราะห์ หรือสถาบันอื่นใด ,ห้ามหาเสียงด้วยการจัดเลี้ยง มหรสพหรืองานรื่นเริงต่างๆ,ห้ามหลอกลวง บังคับ ขู่เข็ญ ใช้อิทธิพลคุกคาม ใส่ร้ายด้วยความเท็จ หรือจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมือง
ผู้สมัครสามารถแจกเอกสาร วิดีโอเกี่ยวกับการหาเสียง โดยระบุ ชื่อ รูปถ่าย หมายเลขประจำตัวผู้สมัคร ประวัติส่วนตัว ชื่อและสัญลักษณ์ รวมถึงนโยบายของพรรคได้ จัดสถานที่หรือเวทีเพื่อโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งได้ ใช้เครื่องขยายเสียงเพื่อช่วยในการหาเสียงเลือกตั้ง หาเสียงเลือกตั้งทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือสื่อโซเชียลได้ แต่ห้ามนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาเกี่ยวข้องกับการหาเสียงเลือกตั้ง รวมทั้งห้ามนักแสดง นักร้อง นักดนตรี สื่อมวลชน ใช้ความสามารถเพื่อเอื้อประโยชน์ในการหาเสียงเลือกตั้งแก่ผู้สมัครอื่น หรือพรรคการเมือง ห้ามแจกจ่ายเอกสารเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้งโดยวิธีการวาง หรือโปรยในที่สาธารณะ ห้ามหาเสียงเลือกตั้งโดยใช้ถ้อยคำที่รุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย หรือปลุกระดม
#เลือกตั้งปี66