วันนี้เป็นวันแรก (3 เม.ย.66) คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ประกาศรับสมัคร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) ระบบแบ่งเขตเลือกตั้งทั่วประเทศ 3-7 เม.ย.66 ในส่วนกรุงเทพฯ รับสมัครที่อาคารกีฬาเวสน์ 2 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) เขตดินแดง
กกต.รายงานขั้นตอนสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต
-กรอกใบสมัครและจัดเตรียมเอกสารประกอบการสมัครให้พร้อม
-ยื่นใบสมัครพร้อมเอกสารประกอบการสมัครด้วยตนเอง
-การลงทะเบียนการรับสมัคร โดยลงเวลาในสมุดลงทะเบียนรับสมัคร
*กรณีมีผู้ลงทะเบียนการรับสมัครก่อนเวลาเปิดให้รับสมัคร (ก่อนเวลา 08.30 น.) ถือว่าเป็นผู้มายื่นใบสมัครพร้อมกัน ผอ.กต.เขต ต้องดำเนินการดังนี้
-ผอ.กต.เขต จัดประชุมเพื่อดำเนินการตกลงลำดับการยื่นใบสมัคร ของผู้ที่มายื่นใบสมัครที่มาพร้อมกัน
-หากตกลงกันได้ ให้ยื่นตามลำดับที่ตกลงกันของผู้ที่มายื่นใบสมัคร
-หากตกลงกันไม่ได้ ผอ.กต.เขต ดำเนินการจับสลาก
*ยื่นใบสมัครและเอกสารประกอบการรับสมัครตามลำดับการลงทะเบียน ต่อผอ.กต.เขต โดยยื่นใบสมัครพร้อมเอกสาร ต่อเจ้าหน้าที่ผู้ทำหน้าที่ตรวจสอบเอกสาร/หลักฐานในเบื้องต้น
*ชำระค่าธรรมเนียมการสมัคร(เงินสด) ต่อเจ้าหน้าที่การเงิน ซึ่งเจ้าหน้าที่การเงินจะดำเนินการตรวจสอบความถูกต้อง และออกใบเสร็จรับเงินให้ผู้สมัครใช้ประกอบเป็นหลักฐานการยื่นใบสมัคร
*ผอ.กต.เขต ออกใบรับสมัคร ให้ผู้สมัครเรียงลำดับการยื่นใบสมัคร
นายสำราญ ตันติพานิช ผอ.สถาบันพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้ง กล่าวว่า วันรับสมัครจริงจะมีผู้ให้ข้อมูลแต่ละขั้นตอน นอกจากนี้จะมีโต๊ะคัดกรองตรวจสอบเอกสารของผู้สมัครก่อนเข้าพื้นที่ ตั้งแต่เวลา 05.00 น. เพื่อความรวดเร็วของการสมัคร ซึ่งต้องขอให้ผู้สมัครเตรียมเอกสารให้ครบตามที่กฎหมายกำหนด
1.เอกสารหลักฐานของผู้สมัครต้องเตรียมมาให้ครบถ้วนทุกรายการตามที่ประกาศ
2.กองเชียร์ สามารถมาร่วมการรับสมัครได้ เพราะเป็นสิทธิเสรีภาพ แต่เมื่อผู้สมัครได้หมายเลขแล้ว แล้วต้องระมัดระวัง งดการร้องรำทำเพลง เนื่องจากขัดต่อมาตรา 73(3) ห้ามผู้สมัครโฆษณาหาเสียงด้วยการจัดมหรสพและการรื่นเริง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566
3.กรรมการสรรหาแต่ละพรรค ต้องตรวจสอบคุณสมบัติต้องห้ามอย่างครบถ้วน หน้าที่ของฝ่ายรับสมัครเป็นเพียงการทบทวนเท่านั้น หากผู้สมัครทราบอยู่แล้วว่าตัวเองมีคุณสมบัติต้องห้าม จะต้องรับโทษตามกฎหมาย และหากได้รับตำแหน่งทางการเมือง จะถูกเรียกคืนสิทธิประโยชน์ และเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งอีกด้วย
มาตรการรักษาความปลอดภัยเข้มงวดรัดกุม โดยมีกำลังตำรวจจากกองบัญชาการตำรวจนครบาล ตำรวจสันติบาล 191 ชุด EOD และชุดควบคุมฝูงชน โดยเฉพาะชุดควบคุมฝูงชน เตรียมไว้วันละไม่ต่ำกว่า 170 นาย และจะปรับกำลังพลไปตามจำนวนของผู้สมัครแต่ละวัน หากมีผู้มาแสดงออกทางการเมือง เช่น การชูป้าย ต้องดูข้อเท็จจริงว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดหรือไม่ หรือเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ จึงไม่สามารถตอบก่อนได้ ต้องประเมินจากข้อเท็จจริง
จากข้อมูลล่าสุด วันที่ 1 เม.ย. 66 ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีประมาณ 4,460,000 คน และมีหน่วยเลือกตั้งทั้งหมด 6,327 หน่วย
กกต.ชี้แจงแนวทางปฎิบัติเกี่ยวกับการจัดขบวนแห่ในวันรับสมัครเลือกตั้ง โดยผู้สมัคร พรรคการเมือง และ บุคคลที่เกี่ยวข้องในการจัดขบวนแห่หรือกองเชียร์ เมื่อกระบวนการสมัครเสร็จสิ้นแล้ว มิควรจัดขบวนหรือกองเชียร์ออกจากสถานที่รับสมัครไปตามถนน ตำบล หรือ หมู่บ้าน เนื่องจาก เคยมีคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค1 และคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยไว้ในทำนองเดียวกันว่า การจัดขบวนแห่และรถยนต์ติดแผ่นป้ายของผู้สมัคร หลังการรับสมัครเสร็จสิ้นแล้วไปตามชุมชน โดยมีการแสดงดนตรี หรืองานรื่นเริง ถือเป็นการจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ลงคะแนนเลือกตั้ง และเป็นการหาเสียงด้วยการจัดให้มีการรื่นเริงขัดต่อกฎหมายเลือกตั้ง
#รับสมัครแบบแบ่งเขต
#เลือกตั้ง66
CR:คณะกรรมการการเลือกตั้ง