นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง “โนวิด ผู้ที่ไม่เคยติดเชื้อโควิด” โดยระบุว่า มีคนไทยหลายคนที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยโควิดแล้วไม่เป็นโควิดในช่วง 3 ปี ที่ผ่านมา เช่น บุคคลในครอบครัวเป็นโควิด, แม่-ลูกใกล้ชิดกันมาก แต่ไม่ติด , ผู้ที่ทำงานที่มีคนอยู่มาก หลีกเลี่ยงยาก เช่น ในสถานบันเทิง ตลาด สัมผัสผู้คนจำนวนมาก ก็ไม่เป็นโควิดในช่วง 3 ปี ที่ผ่านมา จึงมีการให้คำว่าโนวิด (Novid)
จากการตรวจเลือดและซักประวัติ พบว่า มีประชากรไทย ยังไม่เป็นโควิดอยู่ประมาณ 20% (ไม่นับรวมเด็กเล็กต่ำกว่า 2 ปี) ซึ่งบางคนอาจปฏิบัติอย่างเคร่งครัด จึงทำให้ยังไม่ติด แต่บางคนสัมผัสโรคมาก ทำไมไม่ติด ทำให้นักวิจัยให้ความสนใจทางพันธุกรรมของคนกลุ่มนี้ ว่าจะมียีนจำเพาะที่ต้านทานติดโควิดหรือไม่ และถ้าหากมียีนดังกล่าวแล้ว กลไกเป็นอย่างไร ภูมิต้านทานที่เกิดจากการได้รับวัคซีนมีส่วนเกี่ยวด้วยหรือไม่ หรือกลุ่มโนวิด ติดเชื้อไปแล้วอาการน้อย ไม่ได้ตรวจหรือตรวจไม่พบก็เป็นได้ ซึ่ง นพ.ยง ระบุว่า เชื่อว่าอีกไม่นาน จะมีงานวิจัยหาความรู้ใหม่ จะตอบปริศนาเหล่านี้ได้
ด้าน นพ.สุรัคเมธ มหาศิริมงคล ผู้อำนวยการสถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ขณะนี้ทางสถาบันฯ กำลังดำเนินโครงการพิเศษ ในการตรวจเลือดกลุ่มตัวอย่างราวๆ 2,000 คน ครึ่งหนึ่งเป็นคนที่เคยติดเชื้อโควิด – 19 มาก่อน และครึ่งหนึ่งไม่เคยติดเชื้อมาก่อน เพื่อหายีนเฉพาะที่ทำให้บางคนมีการติดเชื้อซ้ำ อาการรุนแรง ฉีดวัคซีนแล้วภูมิไม่ขึ้น และหายีนบางตัวที่ทำให้คนไม่ติดเชื้อ แม้ว่าจะเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงก็ตาม โดยโครงการจะสิ้นสุดในปี 66 จะสามารถวิเคราะห์ผลได้ประมาณปลายปีนี้ หรือต้นปีหน้า
ทั้งนี้ในยุโรปก็มีการศึกษา พบว่าคนที่ติดเชื้ออาการหนักนั้น มียีนที่รับมาตั้งแต่มนุษย์ในสมัยก่อน ส่วนในเอเชียไม่ค่อยมีการศึกษาตรงนี้ และเราก็เริ่มศึกษาตั้งแต่ที่มีการระบาดที่ตลาดกลางกุ้ง จ.สมุทรสาคร , การระบาดที่หลักสี่ กทม. โดยตรวจเลือดดูว่าใครอาการหนัก ไม่หนักอย่างไร ตอนนี้วิเคราะห์ได้ระดับหนึ่งแล้ว แต่ยังไม่เจอยีนเฉพาะที่ทำให้อาการหนักในคนไทย จึงต้องศึกษาต่อ ซึ่งต่อมามีความร่วมมือกับประเทศญี่ปุ่นเมื่อประมาณเดือน ส.ค.65 ส่งตัวอย่างเลือดไปตรวจวิเคราะห์เพิ่มเติม พบข้อมูลว่า มียีนที่ทำหน้าที่สร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัส แต่ยีนนี้ในบางรูปแบบ ในคนไทยบางคนต่อให้มีการฉีดวัคซีนแล้ว หรือติดเชื้อมาแล้ว แต่ยังสามารถติดเชื้อซ้ำได้ง่ายๆ ดังนั้นทำให้เห็นว่าปัจจัยที่ทำให้คนติดเชื้อและติดเชื้อซ้ำนั้น นอกจากปัจจัยจากความเปลี่ยนแปลงของเชื้ออยู่ตลอดเวลาแล้ว ยังอยู่ที่ยีนของแต่ละคนด้วยว่ามีโอกาสติดเชื้อง่ายกว่า หรือมีโอกาสรุนแรงกว่า
ส่วนการตรวจคนที่ไม่เคยติดเชื้อมาก่อนนั้น เพื่อหายีนบางตัวที่ป้องกันการติดเชื้อ เหมือนกับที่เคยมีการศึกษาในโรคอื่นๆ เช่น เชื้อ HIV ที่พบว่ามียีนกลุ่ม ปกติจะจับกับเชื้อ HIV ได้ดี เหมือนเป็นช่องทางด่วนให้เชื้อเข้ามา แต่ยีนมีการกลายพันธุ์ ทำให้คนที่มียีนนี้แม้สัมผัสเชื้อ เช่น สามีภรรยา แต่ไม่ทำให้เกิดการติดเชื้อดังกล่าว และนำมาสู่การพัฒนายารักษาปิดช่องทางด่วน เพื่อไม่ให้เชื้อเข้าสู่ร่างกาย ดังนั้นเชื้อ SARS-CoV-2 ก็เช่นกัน ซึ่งปกติจะมีตัวจับเชื้อ ACE 2 receptor ในทางเดินหายใจ ดังนั้นหากรู้ตรงนี้ ก็เอาไปพัฒนายาปิดช่องทางด่วนการติดเชื้อโควิดได้ หรืออาการไม่หนักได้
#โควิด19