IMF เตือนความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินเพิ่มขึ้น ระวังผลกระทบประเทศยากจน

26 มีนาคม 2566, 14:43น.


          นางคริสตาลินา จอร์เจียวา กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ เปิดเผยในวันนี้ (26 มี.ค.66) ว่ามีความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางการเงินเพิ่มขึ้นและเรียกร้องให้มีการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง ปี 2566 จะเป็นอีกปีที่มีความท้าทายทางเศรษฐกิจ การเติบโตของเศรษฐกิจทั่วโลกจะชะลอตัวลงต่ำกว่าร้อยละ 3 เนื่องจากโรคระบาด สงครามในยูเครน และความเข้มงวดทางการเงิน แม้จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นในปี 2567 แต่การเติบโตทั่วโลกจะยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ร้อยละ 3.8 และแนวโน้มโดยรวมยังคงอ่อนแอ



          ไอเอ็มเอฟ คาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจทั่วโลกปีนี้ที่ร้อยละ 2.9 แต่มีกำหนดจะเผยแพร่คาดการณ์ฉบับใหม่ในเดือนหน้า (เม.ย.)



          นางจอร์เจียวา กล่าวว่า ผู้กำหนดนโยบายในประเทศที่พัฒนาแล้ว ใช้มาตรการที่มีความเด็ดขาดเพื่อจัดการความเสี่ยงด้านเสถียรภาพทางการเงิน หลังจากที่มีธนาคารล้มละลาย แต่ทุกฝ่ายยังต้องเฝ้าระวัง ไอเอ็มเอฟ มีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและกำลังประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลกและเสถียรภาพทางการเงินโลก โดยเฉพาะผลกระทบที่เกิดกับประเทศยากจน ที่มีหนี้สินในระดับสูง



          นอกจากนี้ กรรมการผู้จัดการไอเอ็มเอฟ ยังเตือนด้วยว่าการกระจายตัวของเศรษฐกิจทางภูมิศาสตร์ จะทำให้เกิดกลุ่มเศรษฐกิจที่เป็นคู่แข่งกัน เป็นการแบ่งแยกที่เป็นอันตรายซึ่งจะทำให้ทุกคนยากจนลงและมีความปลอดภัยน้อยลง



          อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของจีน ที่คาดการณ์ว่าจีดีพีจะเติบโตที่ร้อยละ 5.2 ในปี 2566 ได้ให้ความหวังแก่เศรษฐกิจโลก โดยคาดว่าเศรษฐกิจจีนจะมีสัดส่วนประมาณ 1 ใน 3 ของการเติบโตทั่วโลกในปี 2566



          ไอเอ็มเอฟประเมินว่าการเพิ่มขึ้นของจีดีพีจีนทุกๆ ร้อยละ 1 จะส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศอื่นๆ ในเอเชียเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3



          นางจอร์เจียวา เรียกร้องให้ผู้กำหนดนโยบายในจีนมีการทำงานเพื่อเพิ่มผลิตภาพและปรับสมดุลเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยการบริโภคที่คงทนมากขึ้น มีการปฏิรูปที่มุ่งเน้นตลาดเพื่อยกระดับการแข่งขันระหว่างภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจ ซึ่งจะสามารถยกระดับจีดีพีที่แท้จริงได้มากถึงร้อยละ 2.5 ภายในปี 2570 และเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 18 ภายในปี 2580 ซึ่งยังจะช่วยให้บรรลุเป้าหมายด้านสภาพอากาศ เนื่องจากการเปลี่ยนไปใช้นโยบายสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เน้นการบริโภคจะทำให้ความต้องการพลังงานลดลง ลดการปล่อยมลพิษ และลดแรงกดดันความมั่นคงด้านพลังงาน โดยจะสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่าร้อยละ 15 ในอีก 30 ปีข้างหน้า ส่งผลให้การปล่อยมลพิษทั่วโลกลดลงร้อยละ 4.5 ในช่วงเวลาเดียวกัน



….



#เศรษฐกิจโลก



#เศรษฐกิจจีน



#ไอเอ็มเอฟ

ข่าวทั้งหมด

X