ซีเอ็นเอ็น รายงานอ้างผลศึกษาเรื่องการพัฒนาน้ำทั่วโลกของสหประชาชาติ 2023(UN World Water Development Report 2023) ก่อนการประชุมสุดยอดเรื่องน้ำ UN water summit ในนครนิวยอร์ก สหรัฐฯ ระหว่าง 22-24 มีนาคม ระบุว่า ทั่วโลกอาจจะเผชิญกับวิกฤตขาดแคลนน้ำดื่มสะอาด ซึ่งอาจจะหนักขึ้นเรื่อยๆจนกระทั่งคุมสถานการณ์ไม่อยู่ เป็นผลพวงจากปริมาณความต้องการน้ำดื่มสะอาดที่สูงขึ้น และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งอาจจะมีผลกระทบต่อแหล่งต้นน้ำลำธารตามธรรมชาติ
ขณะเดียวกัน การเติบโตของชุมชนเมือง และอุตสาหกรรม ตลอดถึงการเกษตร ยิ่งซ้ำเติมวิกฤตขาดแคลนน้ำหนักยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการเกษตรอย่างเดียวใช้น้ำคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 70 ของปริมาณน้ำทั่วโลก ทั้งอากาศแปรปรวน เช่น ภัยแล้งรุนแรงและนานกว่าเดิมกระทบต่อระบบนิเวศวิทยา รวมถึงพืชและสัตว์ป่าด้วย
นายริชาร์ด คอนเนอร์ หัวหน้าทีมวิจัยเรื่องนี้ เตือนว่า ถ้าหากภาครัฐไม่รีบจัดทำนโยบายเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำดื่มสะอาดตั้งแต่บัดนี้ ปัญหานี้จะกลายเป็นวิกฤตทั่วโลก ระบุว่า ที่ผ่านมา การใช้น้ำเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 ต่อปี ตลอด 40 ปีที่ผ่านมา เป็นผลจากโลกมีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น และรูปแบบการใช้น้ำเปลี่ยนแปลงจากเดิม
ภายในปี 2593 หรืออีก 27 ปีข้างหน้า ตัวเลขประชากรในเมืองต่างๆทั่วโลกที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำดื่มสะอาดจะเพิ่มสองเท่าจาก 930 ล้านคนในปี 2559 เป็น 2.4 พันล้านคน ขณะที่ ความต้องการน้ำของประชากรในชุมชนเมืองจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 80 ภายในปี 2593
เรื่องแหล่งน้ำเป็นปัญหาใหญ่ข้อหนึ่งที่คนทั่วโลกประสบอยู่ในปัจจุบัน ประชากรราว 3.6 ล้านคนไม่มีน้ำประปาสำหรับบริโภคและใช้สอย ขณะเดียวกัน ร้อยละ 10 ของประชากรโลกอาศัยอยู่ในประเทศที่ขาดแคลนน้ำสูง หรือขั้นรุนแรง
#ผลศึกษายูเอ็น
#วิกฤตขาดแคลนน้ำดื่มสะอาด