นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ โฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกพ. มีมติให้สำนักงาน กกพ. นำค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) ประมาณการงวดเดือน พ.ค.-ส.ค.2566 และแนวทางการจ่ายภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ไปรับฟังความคิดเห็นทั้ง 3 กรณี ได้แก่
- กรณีที่ 1 ค่าเอฟทีเรียกเก็บ 293.60 สตางค์ (สต.) ต่อหน่วย คิดเป็นอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยรวม 6.72 บาทต่อหน่วย
- กรณีที่ 2 ค่าเอฟทีเรียกเก็บ 105.25 สต.ต่อหน่วย คิดเป็นอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยรวม 4.84 บาทต่อหน่วย
- กรณีที่ 3 ค่าเอฟทีเรียกเก็บ 98.27 สต. ต่อหน่วย คิดเป็นอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยรวม 4.77 บาทต่อหน่วย ผ่านเว็บไซต์สำนักงาน กกพ. เมื่อวันที่ 10-20 มี.ค.
ซึ่งสำนักงาน กกพ. ได้รวบรวมและสรุปประเด็นความคิดเห็นต่อการปรับค่าเอฟทีสำหรับเดือน พ.ค.-ส.ค.นี้ ผ่านช่องทางเว็บไซต์ของสำนักงาน กกพ. เป็นดังนี้
- เห็นด้วยกับกรณีศึกษาที่ 1 (ค่าเอฟที 293.60 สต.ต่อหน่วย) รวม 15%
- เห็นด้วยกับกรณีศึกษาที่ 2 (ค่าเอฟที 105.25 สต.ต่อหน่วย) รวม 10%
- เห็นด้วยกับกรณีศึกษาที่ 3 (ค่าเอฟที 98.27 สต.ต่อหน่วย) รวม 30% ให้คงค่าเอฟทีเท่ากับ 93.43 สต.ต่อหน่วย 10% ความเห็นอื่นๆ 25%
ดังนั้น กกพ.จึงได้มีมติรับทราบผลการรับฟังความคิดเห็นค่าเอฟที และได้พิจารณากรณีศึกษาการปรับค่าเอฟทีขายปลีก สำหรับเรียกเก็บในงวด พ.ค.-ส.ค.นี้ เป็นอัตราเดียวกันสำหรับบ้านที่อยู่อาศัยและผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่นๆ เท่ากับ 98.27 สต.ต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยรวมอยู่ที่ 4.77 บาทต่อหน่วย และ กกพ.ได้พิจารณาหนังสือยืนยันจาก กฟผ. ถึงความเหมาะสมของอัตราค่าไฟฟ้า 4.77 บาทต่อหน่วย ประกอบแล้วด้วย
ซึ่งการพิจารณาค่าเอฟทีในงวดดังกล่าว เป็นการประมาณการค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น โดยอ้างอิงจากข้อมูลจริงเฉลี่ยในเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา หากการดำเนินการจริงมีการเปลี่ยนแปลงไปจากค่าประมาณการดังกล่าว กกพ. จะนำส่วนต่างค่าใช้จ่ายมาปรับปรุง การคิดค่าเอฟทีในรอบต่อๆไป ตามหลักเกณฑ์การคำนวณค่าเอฟที
ทั้งนี้ ค่าไฟฟ้าบ้าน งวดเดือน ม.ค.-เม.ย.66 อยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย ส่วนค่าไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟประเภทอื่น เช่น ภาคอุตสาหกรรม การค้า การเกษตร การบริการ งวดเดือน ม.ค.-เม.ย.66 อยู่ที่ 5.69 บาทต่อหน่วย
#ขึ้นค่าไฟ