ผลสำรวจบริษัทสหรัฐฯ 55% มองจีนไม่น่าลงทุนในระดับ Top 3 ทัศนคติเชิงลบครั้งแรกในรอบ 25 ปี

23 มีนาคม 2566, 12:06น.


         นายไมเคิล ฮาร์ต ประธานหอการค้าอเมริกันในจีน (AmCham China) เปิดเผยกับบีบีซีว่า ผลสำรวจประจำปี เพื่อสอบถามความเห็นของผู้บริหารของบริษัทสหรัฐฯกว่า 900 แห่งที่ทำธุรกิจในประเทศจีน เช่น ไนกี้, อินเทล,ไฟเซอร์และบริษัทโคคา-โคลา เมื่อเร็วๆนี้ พบว่า บริษัทสหรัฐฯส่วนใหญ่ ร้อยละ 55 เริ่มมีทัศนคติลบต่อการทำธุรกิจในประเทศจีนมากกว่าแต่ก่อน อีกทั้งเป็นครั้งแรกในรอบ 25 ปีที่ผลสำรวจชี้ว่า บริษัทสหรัฐฯไม่ถือว่าประเทศจีน อยู่ในกลุ่มประเทศน่าเข้าไปลงทุนมากที่สุด 3 อันดับแรก หรือ กลุ่มประเทศที่นักลงทุนสหรัฐฯมองว่า ควรเข้าไปลงทุนเพื่อทำให้ธุรกิจเติบโตในระยะยาว



        อีกทั้งมีความตึงเครียดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องระหว่างสหรัฐฯและประเทศจีน สองมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก นอกจากนั้นการที่สองมหาอำนาจเป็นคู่ปรปักษ์ในทุกๆด้านเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการที่บริษัทสหรัฐฯทำธุรกิจในประเทศจีน ผลสำรวจชี้ว่า ประเด็นเรื่องความไม่แน่นอนในด้านความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างสหรัฐฯกับประเทศจีน พุ่งขึ้นที่ร้อยละ 66 จากร้อยละ 10 ในปีที่แล้ว ขณะเดียวกัน สัดส่วนคนที่คิดว่า จีนต้อนรับบริษัทต่างชาติน้อยลง ขยับขึ้นมาที่ร้อยละ 46



        ที่ผ่านมา รัฐบาลประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีนและประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐฯมีความเห็นไม่ตรงกันในแทบทุกเรื่อง เช่น เรื่องสงครามในยูเครน ต้นเหตุการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ปัญหาเรื่องไต้หวัน ตลอดถึงเรื่องแอปพลิเคชันวิดีโอ ติ๊กต๊อก และเรื่องเซมิคอนดักเตอร์



        ด้านสถาบันเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศแห่งปีเตอร์สันของสหรัฐฯระบุว่า ในภาพรวม พบว่า จีนนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ร้อยละ 66.4 ขณะที่ สหรัฐฯ นำเข้าสินค้าจากจีน คิดเป็นร้อยละ 58.3 ยังอยู่ภายใต้การปรับขึ้นภาษีนำเข้าซึ่งทั้งสองฝ่ายตอบโต้กันมา 5 ปีแล้ว ตั้งแต่ยุครัฐบาลอดีตประธานาธิบดีโดนัดล์ ทรัมป์ ผู้นำคนก่อนของสหรัฐฯ ประกาศเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนมูลค่า 60,000 ล้านดอลลาร์ โดยนายทรัมป์กล่าวหาประเทศจีน ใช้ข้อปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมกับบริษัทสหรัฐฯ รวมถึงการขโมยทรัพย์สินทางปัญญา ส่งผลให้ประเทศจีนได้เปรียบดุลการค้ากับสหรัฐฯ ขณะที่ ประเทศจีน ตอบโต้ด้วยการปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯเช่นเดียวกัน



      ถึงแม้ว่าจะมีปัญหาพิพาทในเรื่องต่างๆ แต่ตัวเลขการค้าขายระหว่างประเทศทั้งสองสูงเป็นสถิติใหม่คือ 690,600 ล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว สะท้อนให้เห็นว่า การพึ่งพากันในด้านการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯมีผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก



     ด้านนายเอสวาร์ ปราสาด อาจารย์วิชานโยบายการค้าโลกประจำมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ของสหรัฐฯและอดีตหัวหน้าแผนกกิจการจีนประจำกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ)มองเรื่องนี้ แสดงให้เห็นว่า ประเทศจีนต้องการนำเข้าสินค้าหลายประเภทจากสหรัฐฯ โดยเฉพาะสินค้าเทคโนโลยี ขณะเดียวกัน สหรัฐฯมีบริษัทหลายแห่งที่ทำธุรกิจด้านซัพพลายเชนในประเทศจีน



 



#สหรัฐฯ



#ผลสำรวจความเห็นนักธุรกิจสหรัฐฯ



#การทำธุรกิจในจีน

ข่าวทั้งหมด

X