6 ธนาคารกลางชั้นนำของโลก จับมือแลกเปลี่ยนเงินตรา อัดฉีดดอลลาร์สหรัฐฯ เข้าระบบ

20 มีนาคม 2566, 10:10น.


          ซีเอ็นเอ็น รายงานอ้างแถลงการณ์ร่วมของ 6 ธนาคาร คือ ธนาคารกลาง(เฟด)ของสหรัฐฯ ธนาคารกลางแคนาดา ธนาคารกลางอังกฤษ ธนาคารกลางญี่ปุ่น ธนาคารกลางยุโรปและธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์เมื่อคืนวันอาทิตย์ว่า ธนาคารกลางทั้ง 6 แห่งบรรลุข้อตกลงเรื่องการทำข้อตกลงแลกเปลี่ยนเงินตรา เพื่ออัดฉีดเงินดอลลาร์สหรัฐฯเข้าสู่ระบบธนาคารทั่วโลก ตั้งแต่วันนี้(20 มี.ค.66)จนถึงสิ้นเดือนเม.ย.66 เพื่อให้ธนาคารของประเทศต่างๆมีสภาพคล่องโดยเฉพาะเงินดอลลาร์มากพอที่จะปล่อยกู้ให้กับลูกค้ากลุ่มต่างๆ เช่น ลูกค้าภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ โดยไม่เกิดปัญหาติดขัด



          แถลงการณ์ดังกล่าวมีขึ้นไม่กี่ชั่วโมงหลังรัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ ช่วยประสานจนธนาคารยูบีเอส ธนาคารรายใหญ่ของสวิตเซอร์แลนด์ ตกลงเข้าควบรวมกิจการธนาคารเครดิต สวิส เป็นกรณีเร่งด่วนเมื่อวาน(19 มี.ค.66) ก่อนหน้านี้ ธนาคารเครดิต สวิส หนึ่งใน 30 ธนาคารรายใหญ่ในระบบการเงินทั่วโลก ขาดทุนจำนวนมาก จากการซื้อขายหุ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หลังนักลงทุนและลูกค้าของธนาคาร ขาดความมั่นใจในเรื่องเสถียรภาพทางการเงินของธนาคาร ทำให้นักลงทุนส่วนใหญ่เทขายหุ้นของธนาคาร



         ด้านนายโธมัส จอร์แดน ประธานธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ กล่าวว่า การที่ยูบีเอส ตัดสินใจเทกโอเวอร์กิจการเครดิต สวิส ถือเป็นทางออกในการสร้างเสถียรภาพการเงินและช่วยปกป้องเศรษฐกิจของสวิตเซอร์แลนด์ในวิกฤตการณ์นี้ เนื่องจากเครดิต สวิส เป็นธนาคารที่มีความสำคัญในเชิงระบบ ทั้งในแง่ของขนาดและการมีเครือข่ายอยู่ทั่วโลก



          สำหรับข้อตกลงการแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างธนาคารกลางทั้ง 6 แห่ง จะมีผลให้ธนาคารกลางสามารถแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่ธนาคารกลางเป็นผู้ออกเงินตรานั้นๆโดยตรง ก่อนกระจายให้กับธนาคารพาณิชย์ในประเทศต่อไป เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาขาดแคลนสภาพคล่องในระบบธนาคาร เช่น ข้อตกลงแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างเฟดของสหรัฐฯกับธนาคารกลางยุโรป(ECB) จะช่วยให้ ECB ได้รับเงินดอลลาร์สหรัฐฯในมูลค่าแลกเปลี่ยนเท่าๆกับเงินยูโร จากนั้น ECB กระจายเงินดอลลาร์ให้กับธนาคารพาณิชย์ใน 20 ประเทศที่ใช้เงินสกุลยูโร



           รายงานระบุว่า ข้อตกลงเช่นนี้เคยมีการนำมาใช้ในช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2551 รวมถึงในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งธนาคารแห่งชาติอังกฤษระบุว่า จะเปิดดำเนินการไปจนถึงอย่างน้อยสิ้นเดือนเม.ย.66 นี้



          ก่อนหน้านี้ นางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ กล่าวต่อที่ประชุมคณะกรรมาธิการการคลังของวุฒิสภาสหรัฐฯเมื่อวันพฤหัสบดีก่อนว่า ความปั่นป่วนของตลาดหุ้น ซึ่งเป็นผลจาก 2 ธนาคารของสหรัฐฯคือ ธนาคารซิลิคอนวัลเลย์ (SVB)และธนาคาร ซิกเนเจอร์ แบงก์(SB) อาจทำให้เกิดความยากลำบาก กรณีประชาชนขอกู้เงินจากธนาคาร ถ้าหากธนาคารมีปัญหาเรื่องสภาพคล่องทางการเงิน ธนาคารก็อาจจะไม่อนุมัติเงินกู้ให้กับลูกค้า นอกจากนี้ ต้นทุนการกู้ยืมมีราคาแพงขึ้น อีกทั้งวงเงินกู้ที่ธนาคารจะอนุมัติให้กับลูกค้าอาจจะไม่สูงมาก



           นางคริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรป บอกกับนักข่าวเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า ภาวะตึงตัวโดยต่อเนื่องของตลาดอาจจะกระทบต่อเงื่อนไขเรื่องการกู้เงินธนาคารจากเดิมธนาคารคุมเข้มเรื่องเงื่อนไขการกู้เงินอยู่ก่อนแล้ว หลังธนาคารกลางของประเทศส่วนใหญ่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง



 



#เฟด



#ข้อตกลงแลกเปลี่ยนเงินตรา



#เสริมสภาพคล่องดอลลาร์



 



 



 



    

ข่าวทั้งหมด

X