ประธาน ICC เรียกร้องนานาประเทศช่วยบังคับใช้กฎหมาย หลังออกหมายจับ 'วลาดิเมียร์ ปูติน'

18 มีนาคม 2566, 08:21น.


                สำนักข่าว VOA รายงานว่า  หลังศาลอาญาระหว่างประเทศ หรือ ICC (International Criminal Court) ออกหมายจับประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน ในข้อหาก่ออาชญากรรมสงคราม โดยการมีส่วนร่วมสั่งการลักพาตัวเด็ก ๆ ชาวยูเครนระหว่างปฏิบัติการทหารของรัสเซีย  นอกจากนั้น ศาลยังได้ออกหมายจับ มาเรีย อเลกเซเยฟนา ลโววา-เบโลวา หัวหน้าด้านสิทธิเด็ก ประจำสำนักงานประธานาธิบดีสหพันธรัฐรัสเซีย จากข้อหาเดียวกัน



          ประธานศาลอาญาระหว่างประเทศ พีออตร์ ฮอฟแมนสกี กล่าวว่า แม้ผู้พิพากษาของไอซีซีได้ออกหมายจับแล้ว แต่ก็ขึ้นอยู่กับประชาคมโลกที่จะบังคับใช้ เนื่องจากศาลไม่มีเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายของตัวเองที่สามารถจับกุมผู้ที่ถูกออกหมายจับได้ ทำให้โอกาสในการดำเนินคดีต่อพลเมืองรัสเซียนั้นทำได้ยาก เนื่องจาก รัสเซียไม่ยอมรับอำนาจทางกฎหมายของศาลอาญาระหว่างประเทศ 



          ในข้อกล่าวหา ระบุว่า ประธานาธิบดีรัสเซีย และเจ้าหน้าที่ชั้นสูงผู้บริหารการอุปถัมภ์เด็ก Maria Lvova-Belova-Belova มีความผิด ฐานวางแผนและเนรเทศเด็กออกจากยูเครนไปอยู่รัสเซีย ศาลฯระบุว่า จากการสืบสวนโดยเจ้าหน้าที่ของศาลไม่ต่ำกว่า 42 คน โดยลงพื้นที่เก็บข้อมูลในยูเครน มีหลักฐานชัดเจนว่า ผู้ต้องหาทั้งสองคนนี้เป็นผู้นำในการวางแผนและสั่งการ รวมทั้งละเว้นหน้าที่ในการควบคุมฝ่ายทหารและพลเรือนซึ่งละเมิดสิทธิมนุษยชนและกฎหมายระหว่างประเทศ การดำเนินคดีครั้งนี้เป็นคดีแรกของศาลฯตั้งแต่สงครามในยูเครนเริ่มต้นมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี2022



          ทางการรัสเซียออกมาประณามการดำเนินคดีและหมายจับนี้และย้ำว่ารัสเซียไม่ได้เป็นสมาชิกของศาลนี้ และไม่ยอมรับอำนาจของศาล ทำให้โอกาสที่จะมีการจับกุมและดำเนินคดีผู้ต้องหานั้นเป็นไปได้น้อยมาก เนื่องจากในทางปฏิบัติแล้วยังไม่มีมาตรการที่ทำได้ รัสเซีย สหรัฐ ยูเครนและจีน เป็นตัวอย่างของประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของศาลฯนี้



          กฏข้อบังคับของศาลระบุไว้ชัดเจนว่า การว่าความในศาลจะต้องมีจำเลยมาปรากฏตัวด้วย ซึ่งในกรณีนี้ก็คงไม่หวังที่จะให้รัสเซียส่งตัวผู้ต้องหามา ยกเว้นจะมีการจับกุมและส่งตัวจากประเทศที่มีกฎหมายเรื่องนี้ชัดเจน



          สำหรับเด็กและเยาวชนจากยูเครนซึ่งถูกจับตัวและส่งไปรัสเซียเพื่อให้สถาบันหรือครอบครัวรับไปอุปถัมภ์นั้น จากรายงานของทางการรัสเซียเป็นจำนวนประมาณอย่างน้อย 1,847 คน กระจายไปหลายเมืองใน 19 ภูมิภาคในรัสเซีย บางคนถูกส่งไปไกลหลายพันไมล์จากชายแดนยูเครน ส่วนรายละเอียดนั้นศาลจะเปิดเผยเป็นแต่ละคดี



          ด้านรัฐบาลรัสเซียอ้างว่าการนำเด็กจากยูเครนไปเลี้ยงดูและฝึกสอนวัฒนธรรมในรัสเซียนั้นเพื่อความปลอดภัย เพราะจะทิ้งเด็กและเยาวชนไว้ในแดนสงครามที่มีอันตรายไม่ได้ และขณะเดียวกันได้ใช้เรื่องนี้รณรงค์ให้ชาวรัสเซียเห็นว่า การอุปถัมภ์คือเมตตาและจะส่งผลถึงความเป็นปึกแผ่นของวัฒนธรรมรัสเซียในอนาคต



          เมื่อต้นเดือนมีนาคม 2566 ประธานาธิบดี โวโลดีมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน พบหารือกับนายเมอร์ริก การ์แลนด์ รัฐมนตรียุติธรรมสหรัฐฯ และเจ้าหน้าที่ด้านกฎหมายระดับสูงของยุโรป ในเมืองทางตะวันตกของยูเครน เรียกร้องให้มีการพิจารณาคดีรัสเซียต่อศาลระหว่างประเทศในข้อหาเป็นอาชญากรสงคราม โดยย้ำว่า ยูเครนทำทุกทางเพื่อให้แน่ใจว่าศาลอาญาระหว่างประเทศประสบความสำเร็จในการลงโทษอาชญากรสงครามชาวรัสเซีย จากการรุกราน สร้างความหวาดกลัวต่อประเทศและประชาชน ซึ่งจนถึงขณะนี้มีการบันทึกอาชญากรรมสงครามในรัสเซียมากกว่า 70,000 รายการ และ พื้นที่ส่วนใหญ่ของยูเครนยังคงถูกยึดครอง ทำให้คาดว่าจะพบเหตุอาชญากรรมเพิ่มขึ้น เมื่อมีการขับไล่ทหารรัสเซียออกไป



           ก่อนหน้านี้ นางอัวร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปในฐานะองค์กรฝ่ายบริหารของกลุ่มสหภาพยุโรป(EU)แถลงทางคลิปวิดีโอในวันนี้ว่า กลุ่มอียูจะเสนอให้มีการจัดตั้งศาลพิเศษ เพื่อไต่สวนและดำเนินคดีความผิดอาญาของทหารรัสเซียขณะสู้รบในยูเครน ระบุว่า รัสเซียจะต้องรับผิดต่อคดีอาญาร้ายแรง รวมถึงการรุกรานยูเครน ซึ่งเป็นรัฐเอกราชที่มีอำนาจอธิปไตยของตนเอง แม้ว่ากลุ่มอียูจะยังคงให้การสนับสนุนศาลอาญาระหว่างประเทศ(ICC)ในการสอบสวนคดีอาญาร้ายแรง



#ศาลระหว่างประเทศ



#รัสเซีย



#ยูเครน



CR:VOA และสำนักข่าวอิศรา

ข่าวทั้งหมด

X