ประธานาธิบดีฝรั่งเศส เตรียมใช้กฎหมายพิเศษ ออกกม.ปฎิรูประบบบำนาญ หลังสส.ฝ่ายขวาจัดไม่เห็นด้วย

17 มีนาคม 2566, 09:25น.


          สหภาพแรงงานในฝรั่งเศส เรียกระดมสมาชิกเข้าร่วมการประท้วงต่อต้านการปฏิรูประบบบำนาญ ขยายอายุเกษียณการทำงานจาก 62 ปี เป็น 64 ปี หลังจากที่นายกรัฐมนตรี เอลิซาเบธ บอร์น แห่งฝรั่งเศส เปิดเผยต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรว่าประธานาธิบดี เอ็มมานูเอล มาครง แห่งฝรั่งเศส จะเรียกใช้อำนาจพิเศษตามรัฐธรรมนูญในการออกกฎหมายปฏิรูประบบบำนาญ พร้อมย้ำว่า “การปฏิรูปนี้มีความจำเป็น” ซึ่งทำให้สมาชิกในที่ประชุมส่งเสียงโห่ร้องและตะโกนถ้อยคำเยาะเย้ย



          หลังจากนั้น มีประชาชนหลายพันคนรวมตัวกันที่จัตุรัสคองคอร์ดของปารีส และในอีกหลายเมือง การประท้วงที่กรุงปารีสเพิ่มความตึงเครียดขึ้น มีการใช้ความรุนแรงและมีการจุดไฟเผาทรัพย์สินในจัตุรัส ซึ่งตำรวจเปิดเผยว่า มีผู้ประท้วงถูกจับกุม 120 คนในข้อหาพยายามสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินของทางการและเอกชน



          ตั้งแต่เดือนมกราคมของปีนี้ ชาวฝรั่งเศสจำนวนนับล้านคนเข้าร่วมการประท้วงเป็นระยะ การนัดหยุดงานส่งผลกระทบต่อการคมนาคมขนส่งและการศึกษา ขณะที่ในกรุงปารีส มีกองขยะที่ไม่ได้รับการจัดเก็บอยู่ทั่วไป



          โดยในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีกำหนดลงมติรับรองกฎหมายปฏิรูประบบบำนาญเมื่อวานนี้ (16 มี.ค.66) ต้องหยุดชะงัก เนื่องจากสมาชิกฝ่ายขวาจัดประกาศไม่สนับสนุนกฎหมาย ทำให้นายกรัฐมนตรีประกาศการตัดสินใจของรัฐบาล



          นางมารีน เลอ เปน หัวหน้าพรรคแนวร่วมแห่งชาติ ซึ่งมีแนวคิดขวาจัดเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีบอร์นลาออก



          ฝรั่งเศส ซึ่งเกษียณอายุการทำงานด้วยเงินบำนาญเต็มจำนวนที่อายุ 62 ปี เป็นประเด็นที่มีความละเอียดอ่อนสูงมาโดยตลอด โดยในขณะนี้ยังมีความไม่พอใจทางสังคมที่เพิ่มขึ้นจากปัญหาค่าครองชีพ อย่างไรก็ตาม เกณฑ์อายุ 62 ปี ถือเป็นระดับอายุน้อยที่สุดในโลกอุตสาหกรรม แต่ฝรั่งเศสมีการใช้จ่ายเงินบำนาญมากกว่าประเทศอื่น ๆ คิดเป็นร้อยละ 14 ของจีดีพี



...



#ประท้วงฝรั่งเศส

ข่าวทั้งหมด

X