เศรษฐกิจจีนเริ่มฟื้นตัว แม้ส่งออกยังชะลอ หลังปลดล็อคโควิด-19

15 มีนาคม 2566, 16:20น.


         รอยเตอร์ รายงานอ้างสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน(NBS)ว่า เศรษฐกิจจีน เริ่มฟื้นตัวในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ หลังการบริโภคของภาคครัวเรือนและการลงทุนด้านการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคของรัฐ(เติบโตร้อยละ 9.0) ช่วยขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจจีนฟื้นตัวขึ้นอีกครั้ง หลังอ่อนแอมากในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตลอด 3 ปีก่อน แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงต่างๆที่ต้องระวัง เช่น อุปสงค์ที่อ่อนแอทั่วโลกและปัญหาการชะลอตัวอย่างต่อเนื่องของภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีน



        NBS ระบุว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีนในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์เติบโตร้อยละ 2.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ตัวเลขนี้ต่ำกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คือ ร้อยละ 2.6 แต่นับว่าเติบโตสูงมากเมื่อเทียบกับการเติบโตเพียงร้อยละ 1.3 ในเดือนธันวาคมปีก่อน ขณะที่ยอดขายปลีกใน 2 เดือนแรกของปีนี้เติบโตร้อยละ 2.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเติบโตจากร้อยละ 1.8 ในเดือนธันวาคมปีก่อน



       สอดคล้องกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ ซึ่งคาดว่า การบริโภคในครัวเรือนของจีนจะเป็นเสมือนเครื่องจักรที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนให้ฟื้นตัวในช่วงสถานการณ์ปัจจุบันซึ่งอุปสงค์ที่อ่อนแอทั่วโลกจะทำให้การส่งออกของจีนอ่อนแอด้วย



        ด้านนายจูเลียน อีแวนส์-พริตชาร์ด นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสด้านจีน จากบริษัทแคปิตอล อีโคโนมิกส์ (Capital Economics)ระบุว่า ในภาพรวม ข้อมูลต่างๆรวมถึง ดัชนี PMI บ่งชี้ว่า หลังผ่านพ้นสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของจีนมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างรวดเร็วตั้งแต่ต้นปีนี้



       โดยเฉพาะภาคบริการซึ่งแต่เดิมได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดหนักที่สุด เช่น ร้านอาหารและโรงแรมจะได้ประโยชน์จากการเปิดประเทศของจีน มีรายได้ในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้เติบโตร้อยละ 9.2 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เทียบกับการหดตัวร้อยละ 14.1 ในเดือนธันวาคมปีก่อน หลังเกิดการแพร่ระบาดระลอกใหม่ ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่กล้าออกจากบ้าน กลัวติดโรคโควิด-19



       ด้านนักวิเคราะห์จากบริษัทโกลด์แมน แซคส์(Goldman Sachs)คาดว่าเศรษฐกิจจีนจะยังคงฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องในเดือนต่อๆไปในปีนี้ จากการฟื้นตัวของการบริโภคของครัวเรือนในจีนและนโยบายเศรษฐกิจมหภาคของรัฐบาลจีนที่เอื้ออำนวยต่อการช่วยให้เศรษฐกิจจีนฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง



        ด้านนักวิเคราะห์จากบริษัทโนมูระ (Nomura)ระบุว่าปัจจัยเสี่ยงของจีน คือ การส่งออกที่หดตัวลงและความอ่อนแอของอสังหาริมทรัพย์เป็นตัวเหนี่ยวรั้งให้เศรษฐกิจจีนฟื้นตัวช้าลง พร้อมคาดว่าจีดีพีของจีนในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปีนี้จะอยู่ที่ร้อยละ 3.6 เทียบกับร้อยละ 2.9 ในไตรมาสที่ 4 ของปีก่อน



        ก่อนหน้านี้ ประเทศจีนยกเลิกนโยบายลดโรคโควิด-19 เหลือศูนย์ปลายปีที่แล้ว เพื่อช่วยผลักดันเศรษฐกิจจีนมูลค่า 18 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯให้ฟื้นตัว หลังมีการขยายตัวเพียงร้อยละ 3 ในปีที่แล้ว ต่ำสุดในรอบ 50 ปี



#เศรษฐกิจจีน

ข่าวทั้งหมด

X