กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ประจำเดือนก.พ.ในวันนี้ พบว่า ดัชนี CPI ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้นร้อยละ 6 ในเดือนก.พ. เมื่อเทียบรายปี สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ และชะลอตัวจากระดับร้อยละ 6.2 ในเดือนม.ค.
เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี CPI ทั่วไปปรับตัวขึ้นร้อยละ 0.4 ในเดือนก.พ. สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ จากระดับ 0.5% ในเดือนม.ค. ส่วนดัชนี CPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้นร้อยละ 5.5 ในเดือนก.พ. เมื่อเทียบรายปี สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ และชะลอตัวจากระดับ ร้อยละ 5.6 ในเดือนม.ค.
เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี CPI พื้นฐานปรับตัวขึ้นร้อยละ 0.5 ในเดือนก.พ. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ซึ่งเท่ากับที่ร้อยละ 0.4% ในเดือนม.ค.
แต่คำถามสำคัญที่หลายคนเฝ้ารอคำตอบคือ การประชุมครั้งต่อไปของเฟด 21-22 มีนาคมนี้ เฟดจะมีมติอย่างไรในเรื่องอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ทั้งนี้ ก่อนการล้มของธนาคาร SVB และ ธนาคาร SB นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่า เฟด จะยังคงเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องจนกว่าเงินเฟ้อลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2
การล้มของธนาคาร SVB เมื่อเร็วๆนี้ ทำให้หลายฝ่ายกังวลเรื่องความเปราะบางของตลาดการเงินของสหรัฐฯ โดยนักวิเคราะห์บางคน เช่น นักวิเคราะห์จากโกลด์แมน แซคส์ ของสหรัฐฯ คาดว่าเฟดจะหยุดพักการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไว้ชั่วคราว หรือ อาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอัตราต่ำสุด เช่น ร้อยละ 0.25 โดยคาดว่า เฟดจะเริ่มให้ความสำคัญเร่งด่วนในการเสริมสร้างเสถียรภาพให้กับสถาบันการเงิน มากกว่าเรื่องการแก้ปัญหาเงินเฟ้อของสหรัฐฯในสถานการณ์ปัจจุบัน
ดัชนีดาวโจนส์เปิดตลาดพุ่งกว่า 300 จุด ขณะที่นักลงทุนคลายกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อ และวิกฤตการณ์จากการล่มสลายของซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (Silicon Valley Bank) หรือ SVB เมื่อเวลา 22.00 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 32,265.58 จุด บวก 446.44 จุด
#เศรษฐกิจสหรัฐ