สถานการณ์หมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็กด้านการแพทย์และสาธารณสุข ประจำวันที่ 8 มี.ค. 66 พบพื้นที่ที่มีค่าฝุ่น PM 2.5 เกิน 51 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ซึ่งเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ติดต่อกันเกิน 3 วัน จำนวน 15 จังหวัด ได้แก่ น่าน, เชียงใหม่, เชียงราย, แพร่, พะเยา, ลำพูน, ลำปาง, แม่ฮ่องสอน, อุตรดิตถ์, สุโขทัย, ตาก, พิษณุโลก, เพชรบูรณ์, นนทบุรี และกทม.
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ได้มีการเปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขแล้ว 15 จังหวัด และกำลังเปิดเพิ่มอีก 6 จังหวัด ส่วนพื้นที่ที่มีค่าฝุ่นมากกว่า 51 มคก./ลบ.ม. แต่ไม่ต่อเนื่องเกิน 3 วันมี 36 จังหวัด ค่าฝุ่น PM 2.5 ปีนี้สูงกว่าปีที่แล้ว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะปี 64 และ 65 เป็นช่วงที่มีสถานการณ์โควิด-19 การเดินทางน้อย ทำให้มีค่าฝุ่นน้อย
จากการประเมินสถานการณ์ของกรมควบคุมมลพิษ วันที่ 9-14 มี.ค. 66 พื้นที่ กทม.และปริมณฑล มีแนวโน้มที่ดีขึ้น เนื่องจากมีลมทางใต้ช่วยพัดพาฝุ่นละอองออกจากพื้นที่ ส่วนภาคเหนือตอนบนและตอนล่างยังมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเมื่อเข้าสู่ฤดูร้อน สถานการณ์ฝุ่นจะค่อยๆ ลดลง คาดว่าจะยังมีปัญหาอยู่อีก 1-2 สัปดาห์ จึงต้องเฝ้าระวังในกลุ่มเสี่ยง ทั้งผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่มีโรคทางปอดและหัวใจ รวมถึงเด็กเล็ก โดยช่วงที่มีค่ามีฝุ่นสูง ควรเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้ง
การเฝ้าระวังโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ ระหว่างวันที่ 1 ม.ค.-5 มี.ค. 66 พบผู้ป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศรวม 1,325,838 คน โดยสัปดาห์นี้พบผู้ป่วย 196,311 คน เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมาที่พบ 161,839 คน กลุ่มโรคที่เจ็บป่วยสูงสุด ได้แก่ กลุ่มโรคทางเดินหายใจ 583,238 คน เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 85,910 คน, กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ 267,161 คน เพิ่มขึ้น 35,878 คน กลุ่มโรคตาอักเสบ 242,805 คน เพิ่มขึ้น 36,537 คน และโรคหัวใจ หลอดเลือดและสมอง 208,880 คน เพิ่มขึ้น 33,413 คน
#ฝุ่น