เปิดผลวิจัยฝรั่งเศส-สหรัฐ เตือนภัยมหานครในเอเชีย รวมถึงกทม.จมใต้ทะเลในปีพ.ศ.2643

08 มีนาคม 2566, 14:51น.


         ซีเอ็นเอ็นรายงานอ้างผลการศึกษาใหม่ พิมพ์เผยแพร่ในวารสารชื่อ เนเจอร์ ไคลเมท เชนจ์ (Nature Climate Change) โดยศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์แห่งชาติฝรั่งเศส,มหาวิทยาลัยลาโรแชลของฝรั่งเศส และศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์บรรยากาศแห่งชาติของสหรัฐฯ ซึ่งรวบรวมผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ กับ ปรากฏการณ์น้ำขึ้น-น้ำลงตามธรรมชาติของทะเล ระบุว่า



         มหานครหลายแห่งในเอเชีย รวมถึงกรุงเทพฯ นครโฮจิมินห์ของเวียดนาม นครย่างกุ้งของเมียนมา เมืองเจนไน (รัฐทมิฬนาฑู)และเมืองโกลกาตา(รัฐเบงกอลตะวันตก)ของอินเดีย ตลอดถึงหมู่เกาะบางแห่งทางตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกและทางตะวันตกของมหาสมุทรอินเดีย จะกลายเป็นพื้นที่เสี่ยงจมใต้ทะเลภายในปี 2643 หรืออีก 77 ปีข้างหน้าเนื่องจากระดับน้ำทะเลสูงขึ้น นอกจากนี้ ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นเสี่ยงทำให้พื้นที่ชายฝั่งทางตะวันตกของสหรัฐฯและออสเตรเลียเสี่ยงจมอยู่ใต้ทะเลเช่นกัน



         โดยเฉพาะพื้นที่ชายฝั่งของกรุงมะนิลา ซึ่งมีประชากรกว่า 13 ล้านคน มีโอกาสเสี่ยงเกิดน้ำท่วมในช่วง 100 ปีข้างหน้ามากกว่าเดิม 18 เท่า เนื่องจากปัจจัยหลักคือ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และปรากฏการณ์น้ำขึ้น-น้ำลงตามธรรมชาติของทะเลจะเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ชายฝั่งทะเลมากกว่าเดิม 96 เท่า



        ถึงแม้ว่าในปัจจุบันชายหาดของเมืองใหญ่หลายแห่งในแถบเอเชียเสี่ยงถูกน้ำท่วมอยู่ก่อนแล้ว แต่รายงานฉบับนี้ย้ำว่า การศึกษาวิจัยครั้งก่อนๆมองข้ามปัญหาระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น และปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ชายฝั่งทะเล ซึ่งจากปรากฏการณ์น้ำขึ้น-น้ำลงตามธรรมชาติ จากอุณหภูมิผิวน้ำทะเลสูงขึ้น และการละลายของธารน้ำแข็ง ซึ่งมีสาเหตุจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศทั่วโลก



       นับเป็นการนำเสนอข้อมูลใหม่ล่าสุดที่เตือนภัยอย่างชัดเจนว่าปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศจะกระทบต่อประชากรกว่า 50 ล้านคนในเอเชีย รวมถึงประชากร 11 ล้านคนในกรุงเทพฯ ประชากรกว่า 9 ล้านคนในนครโฮจิมินห์ ประชากร 5.6 ล้านคนในนครย่างกุ้งและประชากรกว่า 30 ล้านคนในอินเดีย ซึ่งเป็นปัญหาที่คณะผู้วิจัย ระบุว่า ทั้งภาครัฐและประชาชนทั่วไปจะต้องตระหนักรู้ถึงผลกระทบร้ายแรงที่จะเกิดขึ้นจากภาวะโลกร้อน พร้อมทั้งกำหนดยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมเพื่อแก้ไขปัญหาในอนาคต



#ผลการศึกษา



#เมืองใหญ่เสี่ยงจมน้ำ



#การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ

ข่าวทั้งหมด

X