คณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นมีมติเห็นชอบให้มีการแก้ไขกฎหมายคนเข้าเมือง การกักกัน การผ่อนปรนกฎการเนรเทศ และเพิ่มสถานะให้เป็นไปในแบบเดียวกับผู้เสมือนลี้ภัย หลังจากที่มีหญิงชาวศรีลังกาวัย 33 ปีเสียชีวิตขณะถูกควบคุมตัวอยู่ที่ศูนย์พักพิงคนเข้าเมืองผิดกฎหมายที่นาโกย่า โดยเธอมีอาการป่วยหนัก แต่ไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมทำให้เสียชีวิต
อย่างไรก็ตาม กฎหมายนี้อาจถูกคัดค้านอย่างหนักในกระบวนการของรัฐสภา เนื่องจากพรรคการเมืองฝ่ายค้าน ประกาศว่า ข้อกำหนดที่ฝ่ายรัฐบาลร่างขึ้นนั้น "ไม่สามารถยอมรับได้" นายจุน อาซูมิ หัวหน้าฝ่ายกิจการรัฐสภาของพรรคประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ หรือ CDP ซึ่งเป็นพรรคการเมืองฝ่ายค้าน กล่าวว่า รัฐบาลไม่สนใจสิ่งที่หารือกันอย่างสิ้นเชิง ทั้งที่หลักการของกฎหมายฉบับนี้คือ “ระบบตรวจคนเข้าเมืองควรเป็นอย่างไร เมื่อเราต้องการให้ชาวต่างชาติเข้ามาทำงาน และมีมาตรการต่าง ๆ ที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล”
ตามข้อมูลของกระทรวงยุติธรรม ระบุว่า ณ สิ้นปี 2564 มีชาวต่างชาติ 3,224 คนในญี่ปุ่นที่ปฏิเสธการเดินทางออกนอกประเทศแม้จะมีคำสั่งเนรเทศ โดย 1,629 คน ยื่นขอสถานะผู้ลี้ภัย ซึ่งมีการแสดงความเห็นว่าการที่ญี่ปุ่นมีกฎหมายห้ามเนรเทศ หากบุคคลนั้นยื่นเรื่องขอลี้ภัย ทำให้หลายคนใช้วิธีนี้เพื่ออยู่ในญี่ปุ่นต่อไป
ขณะที่ 1,134 คน ถูกตัดสินว่ามีความผิดซึ่งในกลุ่มนี้ 672 คนในข้อหาเกี่ยวกับยาเสพติด และ 8 คนในข้อหาฆาตกรรมหรือพยายามฆ่า
ความยากลำบากในการเนรเทศชาวต่างชาติ ทำให้พวกเขาถูกกักขังเป็นเวลานานในศูนย์พักพิงคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย ส่งผลให้สุขภาพร่างกายและจิตใจมีความเครียดอย่างรุนแรง จึงมีการแนะนำให้เพิ่มเงื่อนไขเรื่องสุขภาพ หรือความเสี่ยงในการเดินทางกลับบ้าน และทางสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองท้องถิ่นและสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจะพิจารณาว่าผู้ต้องขังที่อยู่ในศูนย์จำเป็นต้องอยู่ในสถานที่นั้นต่อไปหรือไม่
โดยในเบื้องต้นนี้ เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองจะปล่อยผู้ถูกคุมขังภายใต้ระบบ "การปล่อยตัวชั่วคราว" ซึ่งเคยใช้ในการลดความแออัดของสถานที่ในช่วงที่มีสถานการณ์โควิด-19 รุนแรง
และผ่อนปรนให้ผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่มีความขัดแย้ง เช่น ยูเครน อัฟกานิสถาน และซีเรีย สามารถอยู่ในญี่ปุ่นได้ในฐานะผู้พำนักระยะยาว แบบเดียวกับผู้ที่ได้รับการรับรองสถานะเป็นผู้ลี้ภัย และอาจรวมชาวเมียนมาไว้ด้วย ขึ้นอยู่กับภูมิภาคที่พวกเขาเดินทางออกมา
...
#เข้าเมืองญี่ปุ่น