แนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยว่า นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดของสหรัฐ ย้ำอีกครั้ง อาจปรับเพิ่มดอกเบี้ยสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้จากเป้าหมายร้อยละ 5.1 ในปี 66 ขณะที่ตลาด คาดการณ์อาจปรับเพิ่มถึงร้อยละ 5.85-6.00 เนื่องจากเงินเฟ้อสหรัฐยังไม่ลดลง โดยพบว่า อัตราเงินเฟ้อในเดือนมกราคม เพิ่มร้อยละ 0.5 จากร้อยละ 0.1 ในเดือนธันวาคม 65 ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ อาจต้องปรับเพิ่มดอกเบี้ยร้อยละ 0.5 รอบถัดไป ในการประชุมวันที่ 22 มี.ค. จากรอบก่อนปรับเพิ่มร้อยละ 0.25 ส่งผลกระทบต่อตลาดทุนทั่วโลกกระทบมายังตลาดหุ้นไทยปรับลดลง
FETCO คาดการณ์ว่า เฟดอาจปรับเพิ่มดอกเบี้ยร้อยละ 0.25 อีก 3 ครั้งในปี 66 นี้ การทำสงครามกับเงินเฟ้อของสหรัฐ อาจต้องกินเวลา 3 ปี โดยปัจจัยล่าสุดในปี 66 ยังต้องเผชิญกับ สงครามของเฟดสู้กับปัญหาเงินเฟ้อในสหรัฐ ยังมีความผันผวนกับตลาดทุนทั่วโลก โอกาสของไทยที่นักลงทุนมองว่า ไทยเป็นหลุมหลบภัย จะมีความสำคัญน้อยลง ปัญหาเศรษฐกิจโลกยังทรุดตัว ส่งผลต่อการส่งออกของไทย มองว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน เพราะปัญหาโควิด-19 เริ่มลดลง ส่งผลมายังไทยดีขึ้นตามไปด้วย นักลงทุนต่างชาติขอส่งเสริมการลงทุนสูงสุดในรอบ 10 ปี จีนเข้ามาลงทุนอันดับ 1 ต้องประกาศให้ชัดเจน จะส่งเสริมลงทุนอย่างไร ยอมรับว่า ค่าเงินบาท 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เหมาะสมหนุนการส่งออก
สำหรับ ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน FETCO คาดการณ์ว่า ในอีก 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 121.13 ปรับตัวลดลงร้อยละ 24.3 จากเดือนก่อนหน้า อยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรง” นักลงทุนมองว่าการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวจะเป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นมากที่สุด รองลงมาคือการเลือกตั้งในประเทศและการไหลเข้าของเงินทุน
สำหรับปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ ความกังวลต่อการกลับมาแพร่ระบาดของ Covid-19 หลังนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศมากขึ้น รองลงมาคือ สัดส่วนหนี้ภาคครัวเรือน และสถานการณ์การเมืองในประเทศก่อนการเลือกตั้ง ต้องติดตามนโยบายพรรคการเมืองด้านเศรษฐกิจจะเพิ่มความหวังฟื้นเศรษฐกิจอย่างไรบ้าง
ด้าน ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน สำรวจในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ในกลุ่มนักลงทุนบุคคล กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ และกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศ อยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรง” ในขณะที่กลุ่มนักลงทุนสถาบัน อยู่ในเกณฑ์ “ทรงตัว”
สำหรับหมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดธนาคาร (BANK) หมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดเหมืองแร่ (MINE) ปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ การฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว
ปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ ความกังวลต่อสถานการณ์โควิด หลังนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศมากขึ้น ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2566 SET Index ปรับตัวลดลงโดยเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกับตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลก นักลงทุนมีความกังวลว่า FED จะขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องหลังจากการประกาศตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ รวมถึงการที่เงินทุนต่างชาติไหลออกจากตลาดหุ้นไทยต่อเนื่องซึ่งเป็นผลจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยไทยกับต่างประเทศห่างกันชัดเจน
นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้โดยตัวเลข GDP ล่าสุด สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประกาศว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ปี 2565 ขยายตัวเพียงร้อยละ 1.4 ชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 4.5 ส่งผลให้ทั้งปี 2565 เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 2.6 ต่ำกว่าประมาณการเดิมที่คาดว่า ทั้งปีจะขยายตัวร้อยละ 3.2 โดย SET Index ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ปิดที่ 1,622.35 จุด ปรับตัวลดลงร้อยละ 2.9 จากเดือนก่อนหน้า
ในขณะที่นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 กว่า 43,562 ล้านบาท ตั้งแต่ต้นปี 2566 นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิรวม 24,565 ล้านบาท ปัจจัยต่างประเทศที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางการขึ้นดอกเบี้ยและนโยบายการเงินของ FED ปัญหาการจ้างงาน จากแนวโน้มการลดคนอย่างต่อเนื่องของบริษัทชั้นนำในต่างประเทศ ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์โลก โดยเฉพาะความขัดแย้งในรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งยึดเยื้อมานานกว่า 1 ปี และความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ-จีน จากปัญหา “บอลลูนจีน” ที่รุกล้ำน่านฟ้าสหรัฐฯ ซึ่งอาจลุกลามไปเรื่องสงครามการค้าระหว่างสองประเทศ ในส่วนของปัจจัยในประเทศที่น่าติดตามได้แก่ การฟื้นตัวภาคการท่องเที่ยวทั้งจากจำนวนนักท่องเที่ยวด่างชาติที่เพิ่มมากขึ้นและนักท่องเที่ยวไทยจากมาตรการเราเที่ยวด้วยกัน ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยกลับสู่ช่วงก่อน Covid-19 ได้เร็วยิ่งขึ้น รวมถึงสถานการณ์การเมืองในประเทศก่อนการเลือกตั้ง
#เฟด
#ดอกเบี้ย