ศาลรธน. ชี้ขาดสูตรคำนวณแบ่งเขต ส.ส. ไม่นับรวมผู้ไม่มีสัญชาติไทย

03 มีนาคม 2566, 12:22น.


           วันนี้ (3 มี.ค.66) ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ประชุมแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือและลงมติคำร้องที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. มีหนังสือขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2)  เกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจในการประกาศจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 86



          ซึ่ง กกต.คิดคำนวณจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่แต่ละจังหวัดจะพึงมี โดยนำจำนวนราษฎรทั้งประเทศตามหลักฐานการทะเบียนราษฎร ตามที่สำนักทะเบียนกลางประกาศ ณ วันที่ 31 ธ.ค.ของปีที่ล่วงมามาใช้ในการคิดคำนวณจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัด ต่อมามีผู้โต้แย้งและขอให้ผู้ร้อง ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย



          ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเป็นเอกฉันท์ว่า การกำหนดจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่แต่ละจังหวัดจะพึงมีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 86 (1) ที่กำหนดให้ใช้จำนวนราษฎรทั้งประเทศตามหลักฐาน การทะเบียนราษฎรที่ประกาศในปีสุดท้ายก่อนปีที่มีการเลือกตั้งนั้น คำว่า “ราษฎร” ไม่หมายความรวมถึงผู้ไม่ได้สัญชาติไทย



          อย่างไรก็ตาม คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลตั้งแต่วันที่ 3 มี.ค. 2566 เป็นต้นไป ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 76 วรรคหนึ่งและวรรคสาม และไม่มีผลย้อนหลังไปถึงการเลือกตั้ง ส.ส.ที่ผ่านมา



          ก่อนหน้านี้ นายแสวง บุญมี  เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ยืนยันว่า กกต.พร้อมจะจัดการเลือกตั้งตามกรอบเวลาที่วางไว้ ไม่ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยอย่างไรก็ตาม โดยหากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า การคำนวณจำนวนส.ส.ที่แต่ละจังหวัดพึงมี และการแบ่งเขตเลือกตั้งไม่สามารถนับรวมราษฎรที่ไม่มีสัญชาติไทยได้ ก็ยืนยันว่า ทุกอย่างยังเป็นไปตามเวลาและแผนงานที่วางไว้ อาจจะมีขยับบ้างแต่ กกต.จะเร่งเวลาในส่วนของกกต.ที่เหลือ ให้เหลือเวลาตามกฎหมายเท่านั้น



           มีรายงานข่าวว่า สำนักงาน กกต.ได้แจ้งให้ กกต.แต่ละจังหวัดดำเนินการแผนรองรับในการคำนวณใหม่ เพราะหากศาลชี้ว่าไม่ให้นับราษฎรที่ไม่ใช่สัญชาติไทยก็จะมีผลกระทบต่อจำนวนราษฎรที่แบ่งเขตไว้ร้อยละ 10  โดยจะทำให้มี 8 จังหวัดมีความเปลี่ยนแปลง คือ 4 จังหวัดที่มีจำนวน ส.ส.ลดลง ประกอบไปด้วย ตาก, เชียงราย ,เชียงใหม่ และสมุทรสาคร และ 4 จังหวัดที่จำนวน ส.ส. เพิ่มขึ้นประกอบด้วย อุดรธานี ,ลพบุรี ,นครศรีธรรมราช และ ปัตตานี แต่จากการคำนวนโดยนำเฉพาะจำนวนราษฎรสัญชาติไทยทั้งชายและหญิงทั่วประเทศ 65,106,481 คน หารด้วย 400 เขต จะมีค่าเฉลี่ยประชากรต่อ 1 เขต 162,766 คน ซึ่งเดิมค่าเฉลี่ยที่นับรวมราษฎรที่นับบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทยด้วยคือ 165,226 คนต่อเขต



 



#แบ่งเขตเลือกตั้ง



#กกต

ข่าวทั้งหมด

X