การควบรวมกิจการ ระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค (DTAC) นับเป็นการควบรวมกิจการโทรคมนาคม ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ล่าสุด ได้รับหนังสือรับรองบริษัทใหม่หลังการยื่นจดทะเบียนต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์อย่างเป็นทางการในชื่อ “บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)” นาย มนัสส์ มานะวุฒิเวช ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การสร้างบริษัทโทรคมนาคม-เทคโนโลยีใหม่ครั้งนี้ เป็นการนำศักยภาพจุดแข็งและสิ่งที่ดีที่สุดของทรูและดีแทคมาผนึกรวมกัน ชูแนวคิด "ชีวิตดีกว่า เมื่อมีกันและกัน" (Better Together) 1+1 เท่ากับ อินฟินิตี้ มุ่งสู่การเป็นผู้นำด้านโครงข่ายอย่างแท้จริง โดยจะขยายโครงข่าย 5G ให้ครอบคลุมร้อยละ 98 ของประชากร ในปี 2569 พร้อมกับพัฒนาและขยายเครือข่ายทั่วประเทศ ดูแลผู้ใช้งานมือถือทั้งสองแบรนด์ คือ ทรูมูฟ เอช จำนวน 33.8 ล้านเลขหมาย และดีแทค 21.2 ล้านเลขหมาย รวมทั้งผู้ใช้งานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตทรูออนไลน์ 5 ล้านราย และผู้ใช้งานโทรทัศน์ทรู วิชั่นส์ 3.2 ล้านราย และยืนยันว่า คุณภาพคลื่นความถี่ สัญญาณต่างๆ จะไม่ลดลง รวมทั้งค่าบริการต่างๆ จะไม่ทำให้ลูกค้าเสียประโยชน์อย่างแน่นอน
นอกจากนี้ ยังเพิ่มขีดความแข็งแกร่งจากผู้ถือหุ้นใหญ่ทั้งจากองค์กรไทย คือ เครือเจริญโภคภัณฑ์ และบริษัทชั้นนำระดับโลกอย่างเทเลนอร์ กรุ๊ป พร้อมกับสนับสนุนและยกระดับบริษัทพันธมิตรและสตาร์ทอัพต่างๆ ให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้น ตั้งเป้าหมายเป็นองค์กรนายจ้างที่ดีที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นบริษัทที่มีธรรมาภิบาล และมีความรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งการรวมตัวกันครั้งนี้ จะสร้างประโยชน์ให้กับผู้บริโภคชาวไทย และจะขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่การเป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาค
ด้านนายชารัด เมห์โรทรา รองประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ระบุว่า บริษัทมีเป้าหมายสูงสุดที่จะมอบสินค้าและบริการที่ดีกว่าเดิมสำหรับผู้บริโภค ทั้งการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งลูกค้าทรูและดีแทคจะได้ใช้สัญญาณที่มีคุณภาพดีขึ้นทันที ด้วยการโรมมิ่งสัญญาณข้ามโครงข่าย ซึ่งไม่ใช่การรวมคลื่นความถี่ตามข้อกำหนดของ กสทช. โดยลูกค้าดีแทคสามารถใช้ 5G บนคลื่น 2600 MHk
ส่วนลูกค้าทรู สามารถใช้งาน 5G และ 4G บนคลื่น 700 MHk ซึ่งเปิดให้บริการแล้ว และจะขยายให้ครบ 77 จังหวัดภายในเดือนมีนาคมนี้ นอกจากนี้ยังมีธุรกิจบริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต โทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก และบริการดิจิทัล ที่จะมอบสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้ลูกค้าอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงระยะเวลา 3 ปีต่อจากนี้ ยังเป็นการแยกแบรนด์กัน แต่ทำธุรกิจร่วมกัน
และตั้งแต่พรุ่งนี้ (3 มี.ค.66) เป็นต้นไป บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) จะเริ่มซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์อีกครั้ง โดยมีทุนจดทะเบียน 138,208.40 ล้านบาท จำนวนหุ้นสามัญ 34,552.10 ล้านหุ้น (ราคาพาร์ 4 บาท)
ก่อนหน้านี้ มูลค่าตลาดของทั้ง 2 บริษัท คือ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค (DTAC) และ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ทรู เมื่อวันที่ 20 ก.พ.นี้ รวมกันประมาณ 2.94 แสนล้านบาท ก่อนจะขอให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ห้ามการซื้อขายหลักทรัพย์ชั่วคราว เพื่อเตรียมการจัดสรรหุ้นสามัญของบริษัทใหม่ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของทั้ง 2 บริษัท
#ทรูดีแทค
#รวมกิจการ