มติของคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน หรือ กบง. ปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้มขึ้นอีก 1 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้ราคาก๊าซหุงต้มขนาดถังละ 15 กิโลกรัม ปรับราคาขึ้นเป็น 423 บาทต่อถัง มีผลตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
จากการลงพื้นที่ ผู้ค้าและร้านอาหารย่านลาดพร้าวได้พูดคุยถึงต้นทุนที่สูงขึ้น จากการขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม คุณป๊อป เจ้าของร้านอาหารตามสั่งบอกว่า แต่ละวันจะใช้ก๊าซทั้งหุงข้าวและทำอาหารให้ลูกค้า ตกอาทิตย์ละประมาณ 3 ถัง ต้นทุนเดือนละประมาณ 3,000 กว่าบาท ถือว่าเป็นต้นทุนที่สูงมาก เพราะวัตถุดิบอื่นๆ เช่น ข้าว น้ำมัน น้ำแข็ง หมู ไข่ ขึ้นราคา เช่นกัน ทำให้ต้องใช้วิธีเสาะหา แหล่งขายวัตถุดิบที่มีคุณภาพ ราคาไม่แพงมาก
ส่วนการซื้อก๊าซต้องใช้วิธีสมัครเป็นสมาชิกของร้านขายส่ง เพื่อให้ได้ส่วนลดถัวเฉลี่ยไป แต่ต้นทุนต่างๆก็ยังสูงอยู่ดี ในขณะที่ราคาขายอาหารตามสั่งก็ยังต้องขายราคาเดิม คือเริ่มต้นที่ 40 บาทแล้วแต่เมนู รวมทั้งไม่ลดวัตถุดิบทำอาหาร เพราะไม่อยากเพิ่มภาระให้ลูกค้า และเมื่อเปรียบเทียบตัวเองเป็นลูกค้า ก็ย่อมอยากได้อาหารที่เหมาะสมกับราคาเช่นกัน
ส่วนร้านกล้วยทอดพันล้าน ของคุณตุ่น ขาวผ่อง ที่ขายย่านลาดพร้าวนี้มากว่า 30 ปี ก็บอกเป็นเสียงเดียวกันว่าวัตถุดิบขึ้นทุกอย่าง แม้แต่กล้วย ยิ่งก๊าซขึ้นราคา อีกไม่นานวัตถุดิบอื่นๆ ก็คงขึ้นราคาเช่นกัน แต่กล้วยทอดของคุณตุ่น ยังขายราคาเดิม คือ 7 ชิ้น 20 บาท เพราะกลุ่มลูกค้า คือ พนักงานและนักเรียนนักศึกษา จึงไม่อยากขึ้นราคามากไปกว่านี้
ร้านก๋วยเตี๋ยวน่องไก่ ย่านห้าแยกลาดพร้าว ซึ่งมีอยู่ 2 สาขาอยู่ใกล้กัน หลานเจ้าของร้านให้ข้อมูลว่า ใน 1 วัน ต้องใช้ก๊าซประมาณ 10 ถัง เพราะต้องต้มไก่ด้วยและใช้ลวกก๋วยเตี๋ยวระหว่างวัน เมื่อก๊าซขึ้นราคา ก็ยิ่งเพิ่มต้นทุน เพราะวัตถุดิบอื่นๆ ก็ขึ้นราคาเหมือนกัน แต่ทางร้านจะยังไม่ขึ้นราคาก๋วยเตี๋ยว ยังตรึงราคาเท่าเดิม ไม่อยากเพิ่มภาระให้ลูกค้า เพราะเพิ่มราคา 1 บาท ก็เงินเหมือนกัน โดยหลังจากนี้จะรอดูสถานการณ์ราคาสินค้าและก๊าซหุงต้มก่อนว่าเป็นไปในทิศทางไหน จึงจะตัดสินใจอีกครั้ง
ขณะที่ ร้านค้าย่านซอยพหลโยธิน 7 หรือซอยอารีย์ ซึ่งเป็นย่านสำนักงาน ออฟฟิศ มีลูกค้าที่เป็นพนักงาน ผู้พักอาศัย นักเรียนนักศึกษาจำนวนมาก แต่ผู้ค้าในย่านนี้ก็ได้รับผลกระทบจากก๊าซขึ้นราคาเช่นกัน อย่างร้านหมูทอดรามาและร้านข้าวโพดต้มของคุณพิสมัย นอกจากจะใช้แก๊สทอดหมูและไก่ ที่ร้านรถเข็นแล้ว ยังมีก๊าซที่ใช้ในบ้านตัวเอง ใช้แก๊สอาทิตย์ละ 3 ถัง เดือนหนึ่งประมาณ 4,000 บาท ถือเป็นต้นทุนที่หนักมากจนแทบจะรับไม่ไหวแล้ว แถมขึ้นราคาสินค้าไม่ได้อีก อยากให้รัฐบาลหาทางช่วยเหลือในส่วนนี้ ก่อนที่ผู้ค้าจะรับไม่ไหว
ก่อนหน้านี้ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ราคาก๊าซแอลพีจีในตลาดโลก ผันผวนตามราคาน้ำมันดิบ เนื่องจากความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย และความต้องการใช้น้ำมันและราคาก๊าซแอลพีจีในตลาดโลกยังคงผันผวน ราคานำเข้าอยู่ที่ 698 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน หากเทียบราคาที่จะต้องขายจริงในขนาดถัง 15 กิโลกรัม จะอยู่ที่ 450 บาท แต่ปัจจุบันขายราคาขายปลีกอยู่ที่ 408 บาท ทำให้บัญชีก๊าซแอลพีจี ในกองทุนน้ำมันฯ ติดลบ 813 ล้านบาทต่อเดือนและฐานะกองทุนบัญชีก๊าซแอลพีจี ติดลบกว่า 44 ล้านบาท ซึ่งจะใกล้กรอบวงเงินกองทุนน้ำมัน ที่ติดลบได้ไม่เกิน 48 ล้านบาท ซึ่งก่อนหน้านี้รัฐได้ตรึงราคาก๊าซมาตั้งแต่เดือน ต.ค.65 หรือ 5 เดือนมาแล้ว ทำให้จำเป็นต้องขึ้นราคาขายปลีกอีกกิโลกรัมละ 1 บาท เป็น 423 บาท ต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม
#ขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม
#ผลกระทบประชาชน