นายโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน สั่งปลดนายเอดูอาร์ด มอสคาลอฟ ออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารระดับสูงซึ่งเป็นหนึ่งในแกนนำการสู้รบกับกองกำลังทหารของรัสเซียในแคว้นดอนบาส ทางตะวันออกของยูเครน โดยคำสั่งดังกล่าวมีขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ (26 ก.พ.66) และเป็นการเขียนด้วยคำสั่งเพียงบรรทัดเดียว โดยไม่ได้ระบุเหตุผล
ขณะเดียวกันหน่วยทหารที่สนับสนุนรัฐบาลรัสเซียกำลังเล็งเป้าไปที่เมืองบัคมุต โดยเพิ่มการโจมตีอย่างต่อเนื่อง โดยไม่สนใจว่าทางเจ้าหน้าที่ยูเครนและเจ้าหน้าที่จากชาติตะวันตกจะประกาศว่า มีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัสทางด้านนายพลทหารของยูเครน โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กว่า กองกำลังทหารรัสเซียพยายามโจมตีพื้นที่ในเมืองบัคมุตหลายครั้ง แต่ไม่ประสบความสำเร็จ
ก่อนหน้านี้ นายเยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ประเมินสถานการณ์ว่า ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ไม่มีแผนการสร้างสันติภาพ แต่ผู้นำรัสเซีย สั่งให้กองทัพรัสเซียเพิ่มปฏิบัติการเชิงรุกมากขึ้นในการสู้รบในยูเครน ระบุว่า รัสเซียเริ่มปฏิบัติการเชิงรุกครั้งใหม่มาสักพักใหญ่ๆอยู่ก่อนแล้ว เช่น เพิ่มปฏิบัติการโจมตีในเมืองบัคมุตทางภาคตะวันออกของยูเครน พร้อมทั้งยอมรับว่า ยากที่จะชี้ชัดว่า เป็นปฏิบัติการบุกรอบใหม่ในช่วงฤดูใบไม้ผลิ หรือเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการบุกครั้งใหญ่กว่าเดิมในช่วงที่จะเริ่มเข้าสู่ปีที่ 2 รัสเซียบุกยูเครน แต่สิ่งที่เห็นชัดเจนคือ รัสเซียระดมทั้งกำลังทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์เข้าไปในพื้นที่ยึดครองทางภาคตะวันออกของยูเครนอย่างต่อเนื่อง
ผลการศึกษาจากสถาบันเศรษฐกิจเยอรมนี (IW) ระบุว่า ถ้าไม่มีความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน เศรษฐกิจโลกจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มเติม 1.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 55.87 ล้านล้านบาท) นายไมเคิล กรอมลิง ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบัน IW เปิดเผยว่า ความขัดแย้งดังกล่าวมีผลต่อเศรษฐกิจระดับโลกเป็นอย่างสูง บริษัททั่วโลก เผชิญแรงกดดันจากปัญหาอุปทานพลังงานและวัตถุดิบ ขณะชาติตะวันตก รับผลกระทบเป็นพิเศษเพราะสูญเสียการผลิตระดับโลกถึง 2 ใน 3
สำนักข่าวซินหัว รายงานว่า ราคาพลังงานที่พุ่งสูงในเยอรมนี ซึ่งมีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในยุโรป ได้ผลักดันให้อัตราเงินเฟ้อสูงเกินเกณฑ์ที่ 10% เป็นการชั่วคราวในปี 65 ก่อนมาตรการบรรเทาจะดึงราคาให้ลงมาอีกครั้ง สำนักงานสถิติกลางเยอรมนี ระบุว่า อัตราเงินเฟ้อเดือนม.ค.66 ทรงตัวอยู่ที่ 8.7%
สถาบันฯ ระบุว่า ราคาพลังงานที่สูงทำให้ต้นทุนการผลิตเปลี่ยนแปลงอย่างไม่คาดคิด จนกลายเป็นความยากลำบากของหลายบริษัท ส่วนราคาผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นฉุดกำลังซื้อของครัวเรือนจนการบริโภคหดตัวลง นำไปสู่ภาวะที่บริษัทต่างๆ ลังเลที่จะลงทุนเพราะเกิดความผันผวนทั่วโลกและราคาที่สูงขึ้น
นอกจากนี้ คาดการณ์การสูญเสียมูลค่าเพิ่มทั่วโลกเพิ่มเติมในปี 66 อยู่ที่ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 34.92 ล้านล้านบาท) นายกรอมลิง ระบุว่า ยังไม่มีสัญญาณ ชี้ว่า จะดีขึ้นในปีนี้ พร้อมเตือนว่า ปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบและความผันผวนจะยังคงอยู่ต่อไปอีกนับปี
ด้านกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับตัวเลขคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี 66 ในเดือนม.ค.66 ซึ่งเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 2.7% เป็น 2.9% โดยการกลับมาเปิดประเทศของจีนปูทางสู่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเร็วกว่าที่คาดไว้
#ยูเครน
แฟ้มภาพ
Reuters