เจ้าหน้าที่ตำรวจกองกำกับการ 4 กองปราบปรามการกะทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (กก.4 บก.ปคบ.), สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ร่วมกันจับกุม นายพัสกร (สงวนนามสกุล) อายุ 36 ปี ในความผิดฐาน ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต, ประกอบกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต, ดำเนินกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต, ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต, ขายยาที่ยังไม่ขึ้นทะเบียนตำรับยา และขายเครื่องมือแพทย์โดยไม่ได้รับอนุญาต ตามที่กองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคได้รับแจ้งเบาะแสจากประชาชนว่า มีคลินิกเสริมความงามเปิดให้บริการรับฉีดวิตามินผิว, ฟิลเลอร์, โบท็อก และร้อยไหม โดยแพทย์ซึ่งไม่มีใบประกอบวิชาชีพ ในซอยอนามัย ถนนศรีนครินทร์ แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กรุงเทพมหานคร จึงสืบสวนขยายผลจนทราบข้อมูลว่า สถานพยาบาล ชื่อ “วีบีจีคลินิก” มี นายพัสกร แสดงตนเป็นนายแพทย์ให้บริการฉีดรักษา เสริมความงามแก่ประชาชนทั่วไปจริง ซึ่งไม่มีความรู้ ความชำนาญ อย่างแพทย์ผู้มีวิชาชีพ ทำให้ประชาชนหลงเชื่อและเข้ารับบริการ โดยไม่ได้ตรวจสอบว่าแพทย์ที่ทำการรักษา เป็นแพทย์จริงหรือไม่ เสี่ยงต่อสุขภาพ และอาจถึงแก่ชีวิตได้
เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัว นายพัสกรฯ และตรวจยึดเครื่องมือแพทย์ และผลิตภัณฑ์ยาอื่นที่เป็นความผิด กว่า 26 รายการ ส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ.ดำเนินคดี
เจ้าหน้าที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ตรวจสอบใบประกอบกิจการสถานพยาบาล และใบประกอบกิจการดำเนินสถานพยาบาล สถานพยาบาล พบว่าได้รับอนุญาตถูกต้อง แต่มีการรักษาพยาบาลนอกเวลาที่ได้รับอนุญาต และไม่มีแพทย์ที่มีใบประกอบโรคศิลป์ให้การรักษา
นายพัสกรฯ รับว่าไม่ใช่แพทย์ ไม่มีความรู้เกี่ยวกับการแพทย์ โดยเรียนจบระดับชั้นปริญญาตรี คณะนิเทศศาสตร์ จากนั้นได้เข้าทำงานในคลินิกเสริมความงามในตำแหน่งผู้ช่วยพยาบาล เนื่องจากมีความสนใจในด้านศัลยกรรมเสริมความงาม และเห็นช่องทางว่ามีรายได้ดี จึงเริ่มรับงานโดยแอบอ้างตัวเป็นแพทย์เฉพาะทาง รับฉีดวิตามินผิว, ฟิลเลอร์, โบท็อก ร้อยไหม นอกสถานที่ในลักษณะหมอกระเป๋า และรับงานรักษาในคลินิก กรณีคลินิกนัดลูกค้าให้ โดยทำมาแล้วประมาณ 5 ปี มีรายได้เดือนละ 30,000-40,000 บาท
จากข้อมูลการสืบสวน นายพัสกรฯ ได้ให้บริการเสริมความงามที่คลินิคมีลูกค้ามากกว่า 120 ราย และให้บริการรับฉีดฟิลเลอร์บริเวณหน้าผากด้วย ซึ่งแพทย์โดยทั่วไปไม่รับฉีดให้ เนื่องจากเป็นจุดที่มีความอันตรายสูง เพราะมีเส้นเลือดเชื่อมต่อไปยังจอประสาทตา และสมอง หากแพทย์ที่ทำการฉีดไม่มีความชำนาญมากพอ อาจทำให้อาจเกิดผลกระทบโดยตรงถึงขั้นตาบอดได้
การกระทำของผู้ต้องหาดังกล่าวเป็นความผิดตาม
1. พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 ฐาน “ประกอบวิชาชีพเวชกรรม โดยไม่ได้รับอนุญาต” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปีหรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2. พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 ฐาน “ประกอบกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต และดำเนินกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
3. พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 ฐาน “ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท และ “ขายยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
4. พระราชบัญญัติเครื่องมือแพทย์ พ.ศ. 2551 ฐาน “ขายเครื่องมือแพทย์โดยไม่ได้รับอนุญาต” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
เบื้องต้นผู้ต้องหาให้การรับสารภาพตลอดทุกข้อกล่าวหา และในส่วนเจ้าของคลินิกดังกล่าว เจ้าหน้าที่ตำรวจจะทำการสืบสวนขยายผล และออกหมายเรียกให้มารับทราบข้อกล่าวหาในความผิดฐาน “ประกอบกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต และดำเนินกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต”ต่อไป
พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ. ฝากความห่วงใยมายังพี่น้องประชาชนว่า ควรศึกษาข้อมูลคลินิก แพทย์และขั้นตอนการรักษาให้ดีก่อนที่จะเข้ารับบริการเสริมความงาม และแจ้งเตือนไปยังผู้ที่ลักลอบกระทำความผิด ไม่ว่าจะเป็นบุคคลที่สวมรอยเป็นหมอ, หมอเถื่อน หรือคลินิกเถื่อน ให้หยุดพฤติการณ์ในทันที พี่น้องประชาชนสามารถแจ้งข้อมูลได้ที่ สายด่วน บก.ปคบ.1135 หรือเพจ ปคบ.เตือนภัยผู้บริโภค
....
#หมอเถื่อน
#เขตสวนหลวง
#ตำรวจสอบสวนกลาง