ผลการดำเนินงานประจำปี 2565 ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผย ว่า ในปี 2565 การบินไทยและสายการบินไทยสมายล์แอร์เวย์ มีผู้โดยสารรวมทั้งสิ้น 9 ล้านคน หรือคิดเป็นครึ่งหนึ่งของระดับก่อนเกิดโควิด-19 โดยมีรายได้รวมทั้งสิ้น 105,041 ล้านบาท เทียบกับในช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ที่บริษัทฯมีรายได้ประมาณ 1.9 แสนล้านบาท ขณะที่บริษัทและบริษัทย่อย มีกำไรจากดำเนินงาน 7,797 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ140 เมื่อเทียบกับปี 2564 แต่เมื่อพิจารณาเฉพาะการบินไทย พบว่ามีกำไรจากการดำเนินงาน 11,207 ล้านบาท และมีกำไรก่อนหักต้นทุนทางการเงิน ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) หลังหักค่าเช่าเครื่องบิน จำนวน 19,689 ล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับเป้าหมายของแผนฟื้นฟูฯที่กำหนดว่า EBITDA ในรอบ 12 เดือน ต้องเกิน 2 หมื่นล้านบาท จึงจะออกจากแผนฟื้นฟูฯได้
แต่หากพิจารณาภาพรวมในปี 2565 บริษัทการบินไทยและบริษัทย่อย มีผลขาดทุนสุทธิ 252 ล้านบาท แต่เฉพาะการบินไทยมีกำไรสุทธิ 2,697 ล้านบาท แต่ไทยสมายล์แอร์เวย์ มีผลขาดทุนสุทธิ 4,248 ล้านบาท สำหรับส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทและบริษัทย่อยนั้น ยังติดลบอยู่ 71,024 ล้านบาท แต่เฉพาะการบินไทย ส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ 63,493 ล้านบาท และบริษัทฯมีเงินสดอยู่ที่ 3.4 หมื่นล้านบาท จากระดับ 5,000 ล้านบาทในช่วงปลายปี 2564 และล่าสุดเงินสดได้เพิ่มมาอยู่ที่ 4 หมื่นล้านบาทแล้ว
นายปิยะสวัสดิ์ กล่าวว่า ผลประกอบการที่ดีขึ้น ไม่ได้มาจากการเดินทางของผู้โดยสารอย่างเดียว อีกส่วนมาจากการขนส่งสินค้าที่ไปค่อนข้างดี แต่ที่สำคัญ คือ เราสามารถรักษาค่าใช้จ่ายให้อยู่ในระดับที่ต่ำได้ จากการปรับโครงสร้างองค์กรในหลายๆด้าน และการลดต้นทุนต่างๆ เพราะต้องไม่ลืมว่าระดับผู้โดยสารของเราในขณะนี้นั้น แค่ครึ่งเดียวของระดับก่อนเกิดโควิด ขณะที่ราคาน้ำมันสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยเฉพาะราคาน้ำมันเครื่องบินไม่เคยสูงอย่างนี้มาก่อน
เฉพาะในช่วงไตรมาส 4/2565 บริษัทฯ มีผลประกอบการดีที่สุดนับตั้งแต่เกิดโควิด-19 โดยมีผู้โดยสารเกือบ 2 ล้านคน และมีอัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ82.6 ขณะที่หลายเส้นทางบินมี Cabin Factor สูงกว่าร้อยละ90 เช่นใน ยุโรป ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น โดยเฉพาะในหลายวันที่ผ่านมาเส้นทางเหล่านี้มี Cabin Factor อยู่ที่ 100% ซึ่ง ทำให้ราคาค่าโดยสารเพิ่มขึ้นด้วย ส่งผลให้ในไตรมาส 4 ของปี 2565 การบินไทยมีกำไรจากการดำเนินการ 8,882 ล้านบาท และมีกำไรก่อนหักต้นทุนทางการเงิน ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) หลักหักค่าเช่าเครื่องบิน 10,626 ล้านบาท ดีกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 630% ทำให้ในไตรมาสนี้ เฉพาะการบินไทยมีกำไรสุทธิ 11,154 ล้านบาท
นายปิยสวัสดิ์ ย้ำว่า ฐานะทางการเงินของการบินไทยในขณะนี้ค่อนข้างแข็งแกร่ง ดังนั้น การบินไทย จึงไม่ต้องการเงินกู้ และสิ่งที่การบินไทยต้องทำต่อไป คือ การดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการฯ ในการแปลงหนี้เป็นทุนในส่วนของเจ้าหนี้หุ้นกู้และเจ้าหนี้สถาบันการเงิน รวมถึงการออกหุ้นเพิ่มทุน เพื่อให้ทุนกลับมาเป็นบวกอีกครั้งหนึ่ง และเอาหุ้นเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์
ขณะนี้การบินไทยอยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียดแผนการเพิ่มทุนและการแปลงหนี้เป็นทุน โดยในส่วนการแปลงหนี้เป็นทุนและเพิ่มทุนจะต้องทำให้แล้วเสร็จภายในปี 2567 และขอยืนยันว่า การบินไทยจะไม่กลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจอีกแล้ว แต่หน่วยงานของรัฐ เช่น กระทรวงการคลัง และธนาคารกรุงไทย จะถือหุ้นประมาณร้อยละ 44
ส่วนการยุบไทยสมายล์แอร์เวย์ฯ ว่า การปรับโครงสร้างธุรกิจการบินเป็นส่วนหนึ่งของแผนฟื้นฟูกิจการฯอยู่แล้ว แต่เครื่องบินอาจมีสีสันสวยๆของไทยสมายล์ฯก็ได้ เพราะ A320 เป็นบริการอีกประเภทหนึ่งที่ผู้โดยสารจะรู้ว่า ถ้าบิน A320 จะเป็นแบบนี้ แอร์จะแต่งชุดสีส้ม โดยพนักงานของไทยสมายล์ฯ 900 คน ต้องมาเป็นพนักงานของการบินไทย ส่วนลูกเรือและนักบินยังบิน A320 อยู่ และการที่ไทยสมายล์ฯกลับมาเป็นการบินไทยนั้น จะทำให้ความคล่องตัวในการจัดเส้นทางบินต่างๆมากขึ้น ต่างจากตอนนี้ที่ไม่คล่องตัวเลย
#การบินไทย
#แผนฟื้นฟูกิจการ
#ไม่กู้เงินเพิ่ม