ราชกิจจาฯ เผยแพร่ ประกาศ กกต.แบ่งเขตเลือกตั้ง และ ส.ส.แบบแบ่งเขต 400 คน

01 กุมภาพันธ์ 2566, 05:11น.


          เว็บไซต์ราชกิจจานุเษกษา  เผยแพร่ ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง การแบ่งเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.๒๕๖๖ ความว่า อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๒ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๕๖๐ ประกอบมาตรา ๒๖ มาตรา ๒๗ และมาตรา ๒๘ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๑ และที่แก้ไขเพิ่มเติม คณะกรรมการการเลือกตั้ง จึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้



ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง การแบ่งเขตเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๖”



ข้อ ๒ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป



ข้อ ๓ เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่แต่ละจังหวัดจะพึงมีและจำนวนเขตเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัดแล้ว ให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดจัดทำรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งภายในสามวัน โดยต้องแบ่งพื้นที่ของเขตเลือกตั้งแต่ละเขตให้ติดต่อกันและต้องจัดให้มีจำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้งใกล้เคียงกันแล้วประกาศรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งอย่างน้อยสามรูปแบบเพื่อรับฟังความคิดเห็นของพรรคการเมืองและประชาชนในจังหวัดเป็นเวลาสิบวันนับแต่วันปิดประกาศ ซึ่งแต่ละรูปแบบ ต้องประกอบด้วย



(๑) รายละเอียดเกี่ยวกับอำเภอหรือตำบล หรือเขตพื้นที่ที่อยู่ในเขตเลือกตั้งแต่ละเขต



(๒) จำนวนราษฎรของแต่ละเขตเลือกตั้ง และผลต่างของจำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้ง จากจำนวนเฉลี่ยราษฎรต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหนึ่งคนในจังหวัดนั้น ทั้งนี้ ผลต่างของจำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้งไม่ควรเกินร้อยละสิบของจำนวนเฉลี่ยต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหนึ่งคนในจังหวัดนั้น เว้นแต่เป็นกรณีมีความจำเป็นเพื่อให้ราษฎรในชุมชนเดียวกันหรือใกล้เคียงกันสามารถเดินทางได้โดยสะดวก



(๓) เหตุผลประกอบการเสนอแนะการแบ่งเขตเลือกตั้ง



(๔) แผนที่แสดงรายละเอียดของพื้นที่ที่ประกอบเป็นเขตเลือกตั้งแต่ละเขตเลือกตั้ง ประกาศตามวรรคหนึ่ง ให้ปิดไว้ ณ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด ศาลากลางจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ สำนักงานเทศบาล ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบล และ ให้เผยแพร่ในเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด รวมทั้งประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อชนิดต่าง ๆ ด้วย



          ในกรณีพรรคการเมือง หน่วยงานของรัฐ หรือบุคคลใดต้องการรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งที่ปิดประกาศไว้ให้ขอคัดสำเนาจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด โดยเสียค่าใช้จ่ายเองตามวิธีการที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดกำหนด



         ข้อ ๔ ภายในสามวันนับแต่สิ้นสุดระยะเวลาการรับฟังความคิดเห็นของพรรคการเมืองและประชาชนในจังหวัดตามข้อ ๓ ให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดนำความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของพรรคการเมืองและประชาชนในจังหวัดประกอบการพิจารณาเสนอแนะการแบ่งเขตเลือกตั้งของจังหวัด แล้วรวบรวมสรุปความเห็นและข้อเสนอแนะของพรรคการเมืองและประชาชนในจังหวัด พร้อมผลการพิจารณาข้อเสนอแนะการแบ่งเขตเลือกตั้งของจังหวัดอย่างน้อยสามรูปแบบ เรียงตามลำดับความเหมาะสมเสนอต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งในวันถัดไป



         ข้อ ๕ เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งได้รับรายงานตามข้อ ๔ และได้ดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งแล้วให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศการแบ่งเขตเลือกตั้งในราชกิจจานุเบกษา



         ข้อ ๖ เมื่อมีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไปใช้บังคับ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ที่แต่ละจังหวัดจะพึงมีและจำนวนเขตเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัด ซึ่งจะต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับอำเภอหรือเขตพื้นที่ที่อยู่ในเขตเลือกตั้งในคราวนั้น โดยให้ถือเขตเลือกตั้งที่มีการประกาศกำหนดไว้ตามข้อ ๕



ประกาศ ณ วันที่ 31 มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๖



นายอิทธิพร บุญประคอง



ประธานกรรมการการเลือกตั้ง



https://ratchakitcha.soc.go.th/pdfdownload/?id=140A008N0000000003600



          นอกจากนี้ เว็บไซต์ราชกิจจานุเษกษา เผยแพร่ ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัด สำหรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปครั้งแรก ภายหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๑ ) พุทธศักราช ๒๕๖๔



         ด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๑) พุทธศักราช ๒๕๖๔ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖ ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติในส่วนที่เกี่ยวกับจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบแบ่งเขตเลือกตั้งจากเดิมจำนวนสามร้อยห้าสิบคน เป็นจำนวนสี่ร้อยคน  กำาหนดให้แต่ละเขตเลือกตั้ง มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหนึ่งคน จังหวัดใดมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ไม่เกินหนึ่งคน ให้ถือเขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง และจังหวัดใดมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้เกินหนึ่งคน ให้แบ่งเขตจังหวัดออกเป็นเขตเลือกตั้งมีจำนวนเท่ากับจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จะพึงมี ซึ่งการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว ทำให้จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัดตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งได้ประกาศกำหนดไว้แต่เดิมเปลี่ยนแปลงไป



          อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘๖ และมาตรา ๒๒๔ (๑) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๑) พุทธศักราช ๒๕๖๔ มาตรา ๒๖ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๑ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๖ มาตรา ๒๒ (๒) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๕๖๐ ประกอบข้อ ๓ ของประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง การแบ่งเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 ประกอบกับประกาศสำนักทะเบียนกลาง เรื่อง จำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักร ตามหลักฐานการทะเบียนราษฎร ณ วันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๕ ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๖๖ อันถือได้ว่าเป็นประกาศในปีสุดท้าย ก่อนปีที่มีการเลือกตั้ง คณะกรรมการการเลือกตั้งจึงประกาศให้ทราบเกี่ยวกับจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่แต่ละจังหวัดจะพึงมีและจำนวนเขตเลือกตั้ง เพื่อเป็นการเตรียมการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จะมีขึ้น ดังนี้



๑. จำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักร ณ วันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๕ มีจำนวน ๖๖,๐๙๐,๔๗๕ คน



๒. จำนวนราษฎรโดยเฉลี่ย ๑๖๕,๒๒๖ คน ต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหนึ่งคน



๓. จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัด ดังนี้ 



https://ratchakitcha.soc.go.th/pdfdownload/?id=140A008N0000000003100



#ราชกิจจานุเบกษา



#แบ่งเขตเลือกตั้ง



 



 

ข่าวทั้งหมด

X