ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯคุมโควิด-19-ยุบศบค.เริ่ม 1 ต.ค.นี้

23 กันยายน 2565, 12:35น.


          พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.ชุดใหญ่ ครั้งที่ 12/2565 ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล



          นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. เปิดเผยว่า ที่ประชุมมีมติยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งจะมีผลในวันที่ 30 กันยายน 2565 เป็นต้นไป ส่งผลทำให้มีการยุบศบค.ไปโดยปริยาย 





          ก่อนการประชุม นพ.อุดม คชินทร ที่ปรึกษาศุนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.กล่าวว่า หลังจากวันที่ 1 ต.ค.ไม่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ ศบค.หมดไป การประชุม ศบค.ครั้งนี้จึงจะคุยกันว่า จะมอบหมายให้กระทรวงต่างๆ ยังทำงานโดยบูรณาการร่วมกัน โดยใช้มติ ครม.ไปก่อน และระยะยาวเราแก้ไขโดยใช้ พ.ร.ก.แก้ไข พ.ร.บ.โรคติดต่อ 2558 ที่มีโครงสร้างบางส่วนคล้าย ศบค. เพื่อใช้ไปก่อน  ยืนยันว่า หลังวันที่ 1 ต.ค.จะไม่เกิดสูญญากาศ กระทรวงต่างๆ ยังทำหน้าที่ การทำงานจะไม่มีปัญหา แต่อาจไม่เข้มข้นเหมือนมี ศบค.



          สำหรับตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลอยู่ที่ประมาณ 800 - 1,000 คน ส่วนผู้ที่มีผลตรวจเอทีเคเป็นบวกอยู่ที่ 1.3 - 1.4 หมื่นคนต่อวัน และคาดว่ามีผู้ป่วยที่ไม่ได้เข้าระบบอีก 2 - 3 เท่า โดยรวมจึงมีผู้ติดเชื้ออยู่ประมาณ 3 - 4 หมื่นรายต่อวัน ส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง เป็นเหตุผลที่ทำให้เราเปลี่ยนผ่านจากโรคติดต่อร้ายแรงมาเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง แต่ยังไม่ถึงขั้นโรคประจำถิ่นที่ผู้ป่วยต้องน้อยกว่านี้



           อย่างไรก็ตาม การเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวังทำให้สบายขึ้นมากเพราะทุกอย่างผ่อนคลายเกือบหมด แต่อยากย้ำว่า คนไทยยังต้องดูแลตัวเอง เพราะยังมีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 0.1% ไม่อยากให้มีใครเสียชีวิตและต้องการให้อัตราการเสียชีวิตน้อยกว่านี้ ส่วนตัวเชื่อว่าโควิดจะอยู่กับเราอีกไม่ต่ำกว่า 1 ปี ถึงจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น ประชาชนจึงต้องดูแลตัวเอง ใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ประเมินความเสี่ยงตนเอง สามารถถอดหน้ากากได้หากอยู่ในที่โล่ง



           นพ.อุดม กล่าวว่า ขอย้ำว่าการสวมหน้ากากมีความจำเป็น โควิด-19 ยังไม่ได้เป็นโรคประจำถิ่น ยังไม่ได้อยู่ระดับเดียวกับไข้หวัด เพียงแต่เศรษฐกิจต้องเดินไป นอกจากนี้ วัคซีนยังมีความจำเป็น ที่สามารถลดการป่วยรุนแรงและเสียชีวิต รวมทั้งหากฉีดเข็มกระตุ้นสามารถป้องกัน ลองโควิดได้ แต่ขณะนี้การฉีดเข็มกระตุ้นยังถือว่าต่ำ จึงขอให้เข้ารับการฉีดอย่างน้อยให้ได้เข็มที่ 3 ร้อยละ 70 ของจำนวนประชากร จะทำให้สบายใจกันมากขึ้น  ยอมรับว่า ขณะนี้หลายคน เมื่อเห็นอาการติดเชื้อโควิดไม่รุนแรง เลยไม่ไปฉีดกัน



 



#โควิด19



#ยกเลิกพระราชกำหนด



#ยุบศบค



อ่านต่อเนื่อง: https://www.js100.com/en/site/news/view/122116



 

ข่าวทั้งหมด

X