มติก.อ.เอกฉันท์ ‘เนตร นาคสุข’ ออกจากราชการ เหตุสั่งไม่ฟ้อง ‘บอส อยู่วิทยา’

18 พฤษภาคม 2565, 14:02น.


         ผลการประชุมคณะกรรมการอัยการ นายพชร ยุติธรรมดำรง ประธานคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) เป็นประธานการประชุม ก.อ. ที่ประชุมได้มีลงมติเอกฉันท์ 8 เสียง ให้นายเนตร นาคสุข อดีตรองอัยการสูงสุด ปลดออกจากราชการ กรณีสั่งไม่ฟ้อง นายวรยุทธ หรือบอส อยู่วิทยา ทายาทเครื่องดื่มชูกำลัง ผู้ต้องหา คดีขับรถชน ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ผบ.หมู่งานปราบปราม สน.ทองหล่อ เสียชีวิต          โดยกรรมการทั้ง 8 คนมีมติเป็นเอกฉันท์เห็นว่า นายเนตร ขาดความระมัดระวังละเอียดรอบคอบในการรับฟังข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่สำคัญในคดี และไม่ให้ความสำคัญกับสำนวนทุกประเภท ตามระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ (อันเป็นระเบียบที่ใช้บังคับในขณะกระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา) เป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง อันเป็นการกระทำความผิด ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความระมัดระวัง เป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการ ไม่ถือและปฏิบัติตามระเบียบ แบบแผนของทางราชการ ประมาทเลินเล่อในหน้าที่ราชการ อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ.2553



          และความผิดฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความระมัดระวัง เป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการ และฐานไม่ถือและปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ ตามแห่งพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. 2553 เป็นความผิดวินัยไม่ร้ายแรง ส่วนความผิดฐานประมาทเลินเล่อในหน้าที่ราชการ อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาเป็นการกระทำครั้งเดียวผิดวินัยหลายฐาน จึงเห็นควรลงโทษในสถานความผิดวินัยอย่างร้ายแรงที่มีโทษหนักกว่า แต่ทางสอบสวนไม่ปรากฏพยานหลักฐานบ่งชี้ว่า ผู้ถูกกล่าวหาทุจริตต่อหน้าที่ราชการ จึงยังไม่ถึงขนาดที่จะต้องถูกไล่ออกจากราชการ เห็นพ้องกันว่าควรลงโทษผู้ถูกกล่าวหา "ปลดออกจากราชการ"



          แต่เมื่อพิจารณาถึงประวัติการรับราชการ พบว่า ผู้ถูกกล่าวหาไม่เคยถูกลงโทษในการกระทำความผิดทางวินัยมาก่อน และกรณีดังกล่าวนี้เป็นการกระทำความผิดทางวินัยครั้งแรก ผู้ถูกกล่าวหาเองได้รับราชการมาเป็นระยะเวลานานกว่า 40 ปี ทำคุณประโยชน์แก่ราชการไว้มาก กรณีมีเหตุอันควรลดหย่อนโทษให้แก่ผู้ถูกกล่าวหาคณะกรรมการ ก.อ.ทั้ง 8 ซึ่งรวมตนด้วยจึงมีมติเเละคำสั่งให้ลงโทษนายเนตร นาคสุข ผู้ถูกกล่าวหาในสถาน "ให้ออกจากราชการ" ตาม พ.ร.บ. ข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. 2553 มาตรา 85,87



          หากนายเนตรไม่เห็นด้วย กับมติ ก.อ.ก็ยังสามารถใช้วิธีทางปกครองโดยการยื่นฟ้องต่อศาลปกครองได้ ทั้งนี้คำสั่งให้ออกจากราชการมีผลตั้งแต่วันที่มีการอนุมัติให้ลาออกจากราชการแล้ว



          ส่วนการดำเนินคดีอาญากับนายเนตร ในส่วนของสำนักงานอัยการนั้นคงไม่มีแล้ว คงให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานอื่น ในส่วนของนายชัยณรงค์ แสงทองอร่าม อดีตอัยการอาวุโส ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องในการเปลี่ยนแปลงความเร็วรถยนต์นั้น ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง โดยมี นายประพัฒน์พงศ์ สุคนธ์ อธิบดีอัยการสำนักงานคดีปกครอง เป็นประธานสอบ แต่จะเป็นความผิดสถานใดก็ต้องรอดูผลสอบสวนอีกครั้ง



          สำหรับการลงโทษนายเนตร แค่ให้ออกจากราชการมองว่าเป็นการช่วยเหลือกันหรือไม่ นายพชร ยืนยันว่า ไม่ใช่เป็นการช่วยเหลือกัน เพราะนายเนตร นั้นในหมู่อัยการรู้นิสัยกันดีว่าจริงๆแล้วนายเนตรไม่ควรจะขาดความรอบคอบ แต่เราไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า การสั่งคดีนั้นมีการทุจริตตรงไหน นายเนตร ถือเป็นอัยการที่มือสะอาด แต่การใช้ดุลพินิจในขณะนั้นจะด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ถือว่าขาดความรอบคอบจากมาตรฐานของคนที่ทำคดีมายาวนาน ซึ่งต้องมีความรอบคอบมากขึ้น และต้องสอบพยานคนกลางที่มีความเชี่ยวชาญ มีความรู้เป็นที่ยอมรับของสังคม



 



#บอสอยู่วิทยา



#อัยการสูงสุด



#คณะกรรมการอัยการ

ข่าวทั้งหมด

X