*นายกฯไทย-ญี่ปุ่น หารือเดินหน้าระบบราง -จัดการน้ำขอนำเข้าสินค้าเกษตรไทยเพิ่ม

14 มีนาคม 2558, 13:52น.


 เวบไซต์ทำเนียบรัฐบาล แพร่ภาพ ภารกิจของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ญี่ปุ่น เดินทางจากกรุงโตเกียวด้วยรถไฟความเร็วสูง ไปยังเมืองเซนได สถานที่การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ครั้งที่ 3 (3WCDRR) โดยมีภาพจับมือทักทาย กับ สมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีของกัมพูชาด้วย 





ที่เมืองเซนได ประเทศญี่ปุ่น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าหารือกับนายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ในโอกาสเข้าร่วมการประชุมสหประชาชาติระดับโลกว่า ด้วยการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ครั้งที่ 3 โดยนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวชื่นชมนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ในการเป็นเจ้าภาพจัดประชุม โดยมีผู้นำประเทศและผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากแสดงถึงความเชื่อมั่นในบทบาทของญี่ปุ่น พร้อมยกย่องรัฐบาลและประชาชนญี่ปุ่น ที่ฟื้นฟูบ้านเมืองได้อย่างรวดเร็วหลังสึนามิเมื่อปี 2554 ซึ่งไทยเองได้ผ่านเหตุการณ์มหาอุทกภัยเมื่อปี 2554 และเคยประสบภัยพิบัติสึนามิร้ายแรงเมื่อปี 2547 ถือเป็นบทเรียนสำคัญ จึงเห็นว่าประเทศต่าง ๆ ควรต้องมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และแนวปฏิบัติเพื่อลดความสูญเสีย และชื่นชมญี่ปุ่นที่ร่วมสนับสนุนหลายกองทุนบริจาค เพื่อรับมือภัยสึนามิที่ไทยก่อตั้งขึ้นด้วย





ระหว่างการหารือ นายกรัฐมนตรีไทยและนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ยังได้ติดตามความร่วมมือด้านต่าง ๆ ระหว่างกัน โดยเฉพาะความร่วมมือระบบราง ทั้งสองเห็นพ้องที่จะเร่งผลักดันความร่วมมือตามบันทึกเจตนารมณ์ (เอ็มโอไอ) เพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว โดยกระทรวงคมนาคมของไทย อยู่ระหว่างการจัดตั้งคณะทำงานระดับรัฐมนตรีคาด ว่าจะมีการประชุมได้เร็ว ๆ นี้



ส่วนความร่วมมือด้านการบริหารจัดการน้ำ ไทยพร้อมที่จะร่วมมือกับญี่ปุ่น และยินดีหากญี่ปุ่นสนใจจะส่งคณะมาพูดคุยกับฝ่ายไทยในรายละเอียด ส่วนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายนั้น ยินดีที่ญี่ปุ่นแสดงความสนใจ พร้อมเสนอให้มีการหารือระหว่างผู้นำสามฝ่าย (ไทย - ญี่ปุ่น - เมียนมาร์) ระหว่างการประชุมผู้นำลุ่มน้ำโขง- ญี่ปุ่น ที่โตเกียว ในเดือน ก.ค. นี้ และความร่วมมือด้านความมั่นคงของไทยและญี่ปุ่น หวังว่า ในอนาคตจะสามารถยกระดับเป็นระดับรัฐมนตรี เพื่อหารือในเรื่องที่เป็นนโยบาย และขยายความร่วมมือในกรอบกว้าง โดยเฉพาะเรื่องอุตสาหกรรมการป้องกันประเท



นอกจากนั้น ยังได้การหารือ เพื่อส่งเสริมการเปิดตลาดสินค้าเกษตร โดยขอให้ญี่ปุ่นมีการนำเข้าสินค้าเกษตรของไทยเพิ่มขึ้น เช่น เนื้อสุกรแปรรูป และผลไม้ อาทิ  ขอให้ช่วยเร่งรัดกระบวนการเปิดตลาดมะม่วงอีก 2 สายพันธุ์ (เขียวเสวย และโชคอนันต์) ซึ่งญี่ปุ่นได้บรรจุมะม่วงทั้งสองชนิดไว้ในรายการที่จะต้องดำเนินการประเมินความเสี่ยง นอกจากนี้ยังสนับสนุนให้มีการเจรจาการค้าสินค้ารอบใหม่ภายใต้ JTEPA โดยเร็ว



พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวว่า ผลการสำรวจของไทยพบว่า ภาคเอกชนญี่ปุ่นตระหนักถึงความสำคัญที่รัฐบาลไทยมีให้ต่อธุรกิจญี่ปุ่น มีความเชื่อมั่นมากขึ้น และสนใจที่จะลงทุน และดำเนินธุรกิจในไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการวิจัยและพัฒนา และการพัฒนาบุคลากร เช่นเดียวกับการพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์ ขอให้ญี่ปุ่นเดินหน้าผลักดันการพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งไทยเป็นฐานการผลิตขนาดใหญ่ของญี่ปุ่น จะได้ช่วยสนับสนุนธุรกิจของญี่ปุ่นให้ขยายต่อไปในอาเซียนอย่างเข้มแข็ง



 



ภาพ:เว๊ปไซด์ ทำเนียบรัฐบาล

ข่าวทั้งหมด

X