หลังการรับฟังสถานการณ์น้ำที่เขื่อนน้ำอูนจ.สกลนคร เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น และเขื่อนลำปาว จ. กาฬสินธุ์ของคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หรือ กปร. นาย พลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรีในฐานะประธานติดตามสถานการณ์ภัยแล้ง เปิดเผยว่า เป็นการตรวจเยี่ยมตามปกติทุกปี แต่ในปีนี้ได้รับรายงานว่าจะเกิดปัญหาภัยแล้ง โดยเฉพาะภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงเดินทางมาติดตามสถานการณ์น้ำทั้ง 3 เขื่อนกับผู้รับผิดชอบในพื้นที่ โดยพบว่าในเขื่อนอุบลรัตน์ มีการบริหารจัดการน้ำได้ดีและจะช่วยเหลือประชาชนได้ ดังเห็นจากมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดำเนินงาน แต่ก็ได้ขอให้งดการทำนาปรัง เนื่องจากเกรงว่าน้ำที่มีอยู่จะไม่เพียงต่อการใช้อุปโภคบริโภค ซึ่งเกษตรกรให้ความร่วมมือดี ส่วนในเขื่อนลำปาว พบว่าน้ำในเขื่อนมีมากกว่าปีที่แล้ว จึงไม่น่ากังวลเรื่องปัญหาภัยแล้ง และยังมีพื้นที่เพาะปลูกมากขึ้น รวมทั้งบางพื้นที่ยังทำนาปรังได้ด้วย เพราะมีน้ำจากเขื่อนลำปาวคอยหล่อเลี้ยง แต่ก็ขอให้ติดตามสถานการณ์ต่อ ส่วนในเขื่อนน้ำอูน ได้ขอความร่วมมือจากเกษตรกรให้งดทำนาปรังในบางพื้นที่ แม้ว่าจะยังสามารถบริหารจัดการน้ำได้ แต่ก็ต้องนำไปใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคเป็นหลัก โดยรวมแล้วถือว่ายังไม่น่าห่วง และน้ำน่าจะเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภค ส่วนพื้นที่นอกเขตชลประทานต้องขอความร่วมมือจากผู้ว่าราชการจังหวัดให้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนในการส่งน้ำ หลังพบว่ามีบางพื้นที่ที่จะขาดแคลนน้ำและไม่สามารถทำการเกษตรได้ ส่วนตัวเชื่อว่ารัฐบาลจะคอยประสานงานและให้การช่วยเหลือประชาชนได้ตามหน้าที่ของรัฐบาล ส่วนการตรวจเยี่ยมสถานการณ์น้ำในเขื่อนน้ำอูน อ.พังโคน จ.สกลนคร ในช่วงเย็นวันนี้ของกปร.
นายกาญจน์ หมวกกุล ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร เปิดเผยว่า ประสบปัญหาภัยแล้งบางพื้นที่ จากเหตุฝนทิ้งช่วง ซึ่งทำให้นาข้าวปีที่แล้วเสียหายกว่า 19,000ไร่ จึงได้ขอให้งดทำนาปรังบางส่วน โดยขณะนี้มีคณะกรรมการจัดการชลประทาน ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนครเป็นประธานคอยดำเนินการบริหารจัดการน้ำอยู่ตลอด ทั้งนี้พบว่าเกษตรกรต้องการพื้นที่ทำนาปรังกว่า 49,000ไร่ ทำพืชไร่ 6,000ไร่ แต่ก็ได้ขอให้งดการทำนาปรังและพืชไร่กว่า 41,000ไร่ โดยถึงวันที่ 31 มีนาคมนี้ คาดว่าจะมีการใช้น้ำในการเกษตรกว่า 12 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยขณะนี้เขื่อนสามารถส่งน้ำได้วันละ 1 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งขณะนี้พบว่าเขื่อนมีน้ำกักเก็บอยู่ที่ 250 ล้านลูกบาศก์เมตร จากความจุเขื่อนที่จุได้ 520 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 48 ของความจุเขื่อนทั้งหมดมากกว่าปีที่แล้วร้อยละ 4 และจะเร่งปรับปรุงสถานีสูบน้ำ พร้อมทั้งขอเพิ่มพื้นที่ความจุเขื่อนให้เป็น 600ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อส่งน้ำในพื้นที่ต่างๆกว้า3 ส่วนให้มากขึ้น อย่างไรก็ดีโดยรวมแล้วมั่นใจว่าปริมาณน้ำที่มีอยู่เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคของประชาชนไปจนถึงช่วงเดือนมิถุนายนและไม่น่ากังวลถึงสภาพภัยแล้งในปีนี้
ธีรวัฒน์