หลังการประชุมแม่น้ำ 4 สาย ที่มีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เป็นต้นน้ำ ร่วมกับ คณะรัฐมนตรี สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาปฎิรูปแห่งชาติ และ คณะกรรมาธิการ(กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้กำลังใจคณะทำงาน และพอใจกับภาพรวมการทำงาน โดยไม่มีความกังวล และขอให้ทำงานตามโรดแมพที่กำหนดไว้ ส่วนกรอบการร่างรัฐธรรมนูญหากแล้วเสร็จตามกำหนด จะสามารถนำขึ้นทูลเกล้าฯ ในวันที่ 4 กันยายน 2558 เมื่อร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จก็จะต้องออกกฎหมายลูกให้เสร็จใน 60 วัน และน่าจะเลือกตั้งได้หลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้แล้ว 5 เดือน อย่างไรก็ตามในที่ประชุมก็ไม่มีการพูดถึงการทำประชามติ แต่หากจะมีการทำประชามติ ต้องใช้เวลาชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชน และใช้เวลาการเตรียมการลงประชามติอย่างน้อย 3 เดือน หรือเร็วกว่านั้น ดังนั้น จะทำให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ล่าช้าออกไป และหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการทำประชามติ คณะกมธ.ยกร่างฯและสปช.จะต้องยุบทิ้งไป ซี่งจะส่งผลให้เกิดความล่าช้าในการเลือกตั้งด้วย และอาจจะต้องนำรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆมาปรับแก้ไข ซึ่งก็อาจจะทำให้เกิดกลุ่มที่ไม่พอใจเกิดขึ้น จึงจะต้องพิจารณาว่าควรมีการทำประชามติซ้ำหรือไม่ ส่วนการต่ออายุคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหรือ ป.ป.ช. จะต้องดูว่า จะใช้วิธีการใดเป็นวิธีการในด้านกฎหมาย หรือใช้มาตรา 44 ทั้งนี้ หากไม่ต่ออายุ คณะกรรมการป.ป.ช.4 คนที่เหลือก็สามารถทำหน้าที่ได้ แต่กลัวว่าจะเกิดข้อครหาในการลงมติ เนื่องจาก 1 ใน 4 ป.ป.ช. อาจจะไม่ได้ร่วมลงมติในบางคดี อาจจะทำให้เกิดข้อครหามากขึ้นด้วย
ด้านนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช.เปิดเผยว่า การประชุมวันนี้นายกฯ ไม่ได้กำชับอะไรเป็นพิเศษ โดยเป็นการวางแผนงานของรัฐบาลล่วงหน้า ส่วนสนช.ก็คงต้องเตรียมที่จะพิจารณาและกำหนดเวลาของกฎหมายลูกในอนาคตเพื่อให้ทันต่อการเลือกตั้งตามโรดแมปที่วางไว้ โดยขณะนี้ยังไม่มีวาระสำคัญใดๆในการพิจารณากฎหมาย ส่วนการประชุมวันนี้ไม่มีการพูดถึงการยกร่างรัฐธรรมนูญมากนัก เพราะ ยังไม่ใช่บทสรุปและยังสามารถปรับปรุงได้ตลอดเวลา
ขณะที่นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ทางคณะกมธ.ยกร่างฯ ได้รายงานภาพรวมของการร่างรัฐธรรมนูญร่างแรก โดยได้เน้นในเรื่องของที่มาสมาชิกวุฒิสภา และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) ซึ่งพ.อ.ประยุทธ์ นายกฯ และนายมีชัย ฤชุพันธ์ สมาชิกคสช. ก็ได้ตั้งข้อซักถามหลายข้อ เช่น กระบวนเหล่านี้จะสามารถแก้ไขปัญหาการซื้อเสียงได้หรือไม่ ,ป้องกันการประชานิยมได้มั้ย ,และหากมีการแต่งตั้งปลัดกระทรวง และอธิบดีกรมต่างๆ จะต้องขอความเห็นชอบจากวุฒิสภาหรือไม่ แต่ไม่ได้มีการกำชับประเด็นใดเป็นพิเศษ เนื่องจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังไม่ใช่ร่างสุดท้าย แต่คณะกรรมาธิการฯก็จะรวบรวมข้อสังเกตทั้งหมด เสนอต่อที่ประชุมสปช. เพื่อพิจารณาต่อไป
ธีรวัฒน์ + วิรวินท์