การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) นายเมธี สุภาพงษ์ เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน เปิดเผยว่าคณะกรรมการฯ มีมติ 4 ต่อ 3 เสียง ให้ ลด อัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 จากล่าสุดอยู่ที่ร้อยละ 2.00 เหลือร้อยละ 1.75 ต่อปี โดยให้มีผลทันที อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่คณะกรรมการฯ ให้ความสำคัญในการตัดสินนโยบาย ประกอบด้วย เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4/2557 และเดือน ม.ค. 2558 ยังฟื้นตัวค่อนข้างช้า โดยมีแรงส่งทางเศรษฐกิจด้านการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนน้อยกว่าที่คาด ส่วนหนึ่งเนื่องจากความเชื่อมั่นของภาคเอกชนลดลงขณะที่เศรษฐกิจในระยะต่อไปยังมีแนวโน้มฟื้นตัวในอัตราต่ำกว่าที่ประเมินไว้ในการประชุมครั้งก่อน (28 ม.ค.2558) สำหรับการส่งออกสินค้า คาดว่า จะทยอยฟื้นตัวใกล้เคียงกับที่คาดแต่จะมีความเสี่ยงสูงขึ้นจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าโดยเฉพาะจีน อีกทั้งในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2558 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลงและติดลบตามราคาน้ำมันโลกที่อยู่ในระดับต่ำ แม้ว่าราคาสินค้าและบริการส่วนใหญ่ยังปรับเพิ่มขึ้น สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่เป็นบวก มองไปข้างหน้า แรงกดดันด้านเงินเฟ้อ คาดว่า จะยังอยู่ในระดับต่ำใกล้เคียงกับที่คณะกรรมการฯประเมินไว้ในการประชุมครั้งก่อนหน้าสำหรับเสถียรภาพการเงินยังอยู่ในเกณฑ์ดีแต่ต้องติดตามผลกระทบจากความเสี่ยงที่อาจสะสมจากพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงกว่า ภายใต้ภาวะอัตราดอกเบี้ยในประเทศอยู่ในระดับต่ำมาเป็นเวลานาน ดังนั้น การตัดสินใจนโยบาย คณะกรรมการฯ ประเมินว่า แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอ่อนแรงกว่าที่ประเมินไว้ โดยแรงกระตุ้นจากภาคการคลังต้องใช้เวลากว่าจะเห็นผลชัดเจน และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะอยู่ในระดับต่ำไปอีกระยะหนึ่ง ภายใต้ภาวะดังกล่าว กรรมการ 4 คน เห็นว่านโยบายการเงินควรผ่อนคลายเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มแรงสนับสนุนให้เศรษฐกิจและช่วยพยุงความเชื่อมั่นของภาคเอกชน อย่างไรก็ดี คณะกรรมการฯ อีก 3 คน ประเมินว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันอยู่ในระดับผ่อนปรนเพียงพอในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและควรรักษาความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินไว้สำหรับเวลาที่จำเป็นและมีประสิทธิผลมากกว่าปัจจุบัน และการกระตุ้นเศรษฐกิจในปัจจุบันควรอาศัยแรงขับเคลื่อนด้านการคลังมากขึ้น โดยเฉพาะการดำเนินการตามแผนการลงทุนของภาครัฐ
CR:แฟ้มภาพ