สธ.มั่นใจไทยยังคุม 'โอไมครอน' ได้ ย้ำฉีดวัคซีนลดอาการป่วยหนัก-เสียชีวิต

27 ธันวาคม 2564, 15:12น.


          การแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน  นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยว่า ได้มอบให้กรมควบคุมโรคจัดทำฉากทัศน์(แบบจำลอง)ขึ้นมา พบว่า โอไมครอนระบาดเร็วกว่า ง่ายกว่า แต่ความรุนแรงน้อยกว่าเดลตา ซึ่งหลายประเทศ เช่น สิงคโปร์ออกมาว่า โอไมครอนไม่ได้รุนแรงมาก  แต่ต้องพยายามป้องกันการติดเชื้อให้มาก ไม่ให้มีการแพร่ระบาดรวดเร็วเกินไปนัก เพราะหากแพร่ระบาดและมีคนป่วยมากๆ จะกระทบต่อระบบการดูแลของสาธารณสุข ทั้งนี้ หากเราสามารถพยากรณ์ว่า ความสามารถของโอไมครอนหากมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันมีการฉีดวัคซีนพื้นฐานได้จะเป็นอย่างไร    โดยแบบจำลองมี 3 แบบ คือ



แบบที่ 1 Least favourable  เป็นฉากทัศน์ที่ไม่อยากให้เป็น กรณีอัตราการแพร่เชื้อเพิ่มขึ้นจากการระบาดโอไมครอนในประเทศ มีการฉีดวัคซีนได้ใกล้เคียงกับช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค.  แต่ประชาชนให้ความร่วมมือน้อย  หรือไม่ให้ความร่วมมือ  ไม่มีการป้องกัน ไม่มีมาตรการอะไรมาก  ก็จะอยู่สถานการณ์รุนแรง ทำให้มีปัญหาการควบคุมโรคอย่างมาก  หากมีการระบาดควบคุมได้ยากจะต้องใช้เวลา 3-4 เดือนในการควบคุม อาจมีการติดเชื้อรายวัน อาจถึง 3 หมื่นคน แต่หากควบคุมได้ดีตามเส้นสีเขียว จะอยู่ที่หมื่นรายนิดๆ และสามารถควบคุมโรคได้เร็วประมาณ 1-2 เดือนตัวเลขจะลดลงมา  ซึ่ง



-แบบที่ 2 ฉากทัศน์ Possible เป็นแบบปานกลาง หากทำได้ ตัวเลขผู้ป่วยจะอยู่ที่ 1.5-1.6 หมื่นคนต่อวัน และค่อยๆทรงตัว และค่อยๆลดลงในที่สุด จึงต้องร่วมมือกันอีกครั้ง เพราะไม่อยากล็อกดาวน์ประเทศอีก



-แบบที่ 3 ฉากทัศน์แบบ most favourable  คือ แบบดีที่สุด  เพื่อสกัดกั้น ความสามารถในการแพร่กระจายของโรค การฉีดวัคซีน โดยแบบที่ 3 ต้องมีมาตรการค่อนข้างมาก เร่งฉีดวัคซีนทุกกลุ่มได้สูงขึ้นทั้งเข็ม 1 เข็ม 2 และบูสเตอร์ ฉีดมากกว่า 4 ล้านโดสต่อสัปดาห์ ซึ่งทั้งหมดได้พยายามดูให้สมดุลกับการดำเนินชีวิต 



           การคาดการณ์ผลจากการป้องกันควบคุมโรคไตรมาส 1 ปี 2565 เปรียบเทียบจำนวนผู้เสียชีวิต คาดการณ์ว่า หากเราไม่ทำอะไรเลยก็จะเป็นเหมือนเส้นกราฟสีเทา เสียชีวิตสูง 170-180 คนต่อวัน แต่หากทำได้ดีจะมีผู้เสียชีวิตวันละ 60-70 รายแต่จะลดลง ทั้งนี้ การคาดการณ์เส้นกราฟเสียชีวิต เราใช้พื้นฐานของเชื้อที่ว่า ติดเชื้อสูง แต่ความรุนแรงต่ำ อัตราการเสียชีวิตอาจไม่สูงมาก โดยโรคนี้ป่วยได้ แต่ต้องรักษาได้ ไม่ให้เสียชีวิต หรือลดอัตราตายให้มากที่สุด 



           สำหรับอัตราการใช้เตียงของประเทศ ขอให้ประชาชนมั่นใจ ขณะนี้เรามีเตียง 1.7 แสนเตียง จากที่เคยขยายถึง 2 แสนเตียง แต่ปัจจุบันเคสไม่มากจึงเหลือ 1.7 แสนเตียง โดยปัจจุบันเตียงสีแดงเรียกว่า ระดับ 3 เราใช้อยู่ 31.6% มีประมาณ 5 พันเตียง ส่วนเตียงระดับ 2 ใช้ประมาณ 25.6% ส่วนเตียงสีเขียวมีมาก ใช้ประมาณ 6.4% จากเตียงที่มีกว่า  1.1 แสนเตียง  ซึ่งเตียงสีเขียวเราสามารถเพิ่มได้ในระยะเวลาอันสั้น



           ส่วนเรื่องยาเรามียาฟาวิพิราเวียร์สำรองประมาณ 15 ล้านกว่าเม็ด ซึ่งประมาณการณ์ใช้ได้อย่างน้อย 2 เดือน หากมีสถานการณ์ที่ต้องการยา เรามีการสำรองและองค์การเภสัชกรรมสามารถผลิตได้         



           สรุปสถานการณ์โควิดทั่วโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสหรัฐ และประเทศแถบยุโรป เกิดจากโอไมครอน ส่วนไทยเรายังควบคุมผู้ติดเชื้อได้ค่อนข้างดี ซึ่งขณะนี้โอไมครอนเริ่มมากขึ้นในไทย เป็นผู้เดินทางมาจากประเทศแถบยุโรป สหรัฐ แอฟริกา และตะวันออกกลาง พร้อมขอให้ทุกภาคส่วนช่วยกันปฏิบัติตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะช่วงหลังปีใหม่อาจพบติดเชื้อ และเสียชีวิต แต่อาการส่วนใหญ่ยังไม่รุนแรง ไม่ป่วยหนัก แต่ก็ต้องระมัดระวังตัวป้องกันโรค และขอให้เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด ทั้งเข็ม 1 เข็ม 2 หรือเข็ม 3 เพราะลดการป่วยหนัก และเสียชีวิตได้  รวมทั้งขอให้มีการตรวจ ATK อย่างสม่ำเสมอ



 



#ควบคุมโควิด-19



#ตรวจATKสม่ำเสมอ

ข่าวทั้งหมด

X