พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวภายหลังการประชุมศบค.ว่า ตนรับทราบรายงานความกังวลกับโควิดสายพันธุ์B.1.1.529 จากแอฟริกาใต้แล้ว ได้สั่งการให้ติดตามเรื่องนี้ ทางกรมควบคุมโรคติดต่อและกระทรวงสาธารณสุขได้ดูอยู่ ย้ำห้ามเดินทางไปประเทศเหล่านี้เด็ดขาดเพื่อไม่ให้มีการนำเชื้อเข้ามาติด และต้องระวังในกลุ่มประเทศเหล่านี้ด้วย
ทั้งนี้การประชุมที่ผ่านมา ได้เร่งรณรงค์ให้คนมาฉีดวัคซีนมากขึ้น โดยได้ทำระบบออนไลน์แล้วที่ทุกคนสามารถแสดงผลการฉีดผ่านโทรศัพท์มือถือได้ เพื่อใช้ในการเดินทางไปเที่ยวที่ต่าง ๆ สามารถโชว์ได้ว่าฉีดวัคซีนครบหรือยัง บางพื้นที่อาจต้องมีการตรวจหาเชื้อ ซึ่งคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อในพื้นที่เป็นคนกำหนด
ส่วนมาตรการทุกกิจกรรมทุกพื้นที่จะต้องคำนึงถึง Covid free setting ให้เป็นไปตามมาตรฐาน ที่ได้เน้นย้ำคือการทำอะไร จะต้องฉีดวัคซีนให้ครบทั้งผู้ให้บริการและผู้บริการ ทั้งโรงแรมที่พัก สถานประกอบการ สถานบันเทิงต่าง ๆ ก็ขอความเห็นใจทุกอย่างต้องเป็นไปตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุขเป็นสำคัญ ก็ต้องการให้ปีใหม่ของเราเป็นปีใหม่ที่มีความสุข ไม่มีการแพร่ระบาด ในช่วงนี้และก่อนปีใหม่ ก็ขอให้เข้าใจถึงมติที่ประชุมร่วมกันในวันนี้ด้วย
ก่อนหน้านี้ ผู้อำนวยการศูนย์ตอบสนองโรคระบาดและนวัตกรรมในแอฟริกาใต้ เปิดเผยว่า ขณะนี้ที่แอฟริกาใต้ พบไวรัสกลายพันธุ์ของโควิด-19 ในชื่อที่บรรจุตามองค์การอนามัยโลก คือ B.1.1.529 ซึ่งกลายพันธุ์ในทั้งหมด 50 จุด รวมถึงการกลายพันธุ์มากกว่า 30 จุดในสไปค์โปรตีน ที่เป็นตัวรับวัคซีนของมนุษย์ เพราะสไปค์โปรตีนเป็นโครงสร้างชั้นนอกของไวรัสที่เข้าไปจับกับตัวรับในร่างกายมนุษย์ ดังนั้น จึงมีความกังวลว่าจะมีผลต่อวัคซีนที่ฉีดในปัจจุบัน
ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า ข้อมูลล่าสุดวันที่ 24 พ.ย. องค์การอนามัยโลกยังจับตาสายพันธุ์ 4 ตัวเดิมคือ อัลฟา แกมมา เดลตา และเบตา ส่วนสายพันธุ์มิวและแลมดาก็ยังเฝ้าติดตาม มีการพบสายพันธุ์ใหม่ B .1.1.529 แต่ไม่ต้องตกใจเพราะมีการถอดรหัส พบ 10 คน เจอที่บอสวานา 3 คน ฮ่องกง 1 คน แอฟริกาใต้ 6 คน โดยมีการกลายพันธุ์ 32 จุดที่เกี่ยวข้องกับสไปค์โปรตีน ซึ่งเป็นตัวที่เข้าสู่เซลล์ทำให้เกิดการติดเชื้อ ทำให้นำสไปค์โปรตีนไปผลิตวัคซีน แต่หากตรงนี้กลายพันธุ์จนเพี้ยนอาจจะทำให้เชื้อหลุดรอดจากวัคซีนที่ฉีด แต่ตอนนี้ยังไม่มีรายงานเรื่องนี้ แต่เป็นเรื่องที่ต้องติดตาม
ด้าน ศ.เกียรติคุณ วสันต์ จันทราทิตย์ ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาล (รพ.) รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าว่า ขณะนี้พบการระบาดของไวรัส B.1.1.529 แค่ 10 คน ในแอฟริกาและมีการเดินทางมาต่อมาที่ฮ่องกง 1 คนเท่านั้น จากการตรวจสอบเบื้องต้น พบมีการกลายพันธุ์ 32 ตำแหน่ง แต่ในส่วนนี้จะมีผลให้เชื้อรุนแรงขึ้นหรือไม่ ต้องใช้เวลาให้ไวรัสได้ พิสูจน์กับสิ่งแวดล้อม ประมาณ 3-6 เดือน ค่อยกลับมาดูอีกครั้งหนึ่ง หากเชื้อเข้ากับสิ่งแวดล้อม แข็งแรงแพร่เร็ว เชื้อนั้นก็ยังคงอยู่ แต่หากการกลายพันธุ์ของไวรัส ทำให้อ่อนแอลง หรือ เชื้อพิการ เชื้อไวรัสนั้นก็จะค่อยๆ หายไปกับสิ่งแวดล้อม ความตื่นตระหนกที่เกิดขึ้นทั่วโลก เพราะเครื่องมือตรวจจับเชื้อไวรัส และการแปลผลถอดรหัสพันธุกรรมที่ทำกัน ในหลายหน่วยงาน และส่งข้อมูลทวีตหากัน
ขณะที่ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่อยากให้ประชาชนวิตกกังวล หรือ ตื่นตระหนก เพราะการเปลี่ยนของไวรัสเป็นเรื่องธรรมชาติ ที่เกิดขึ้น ขณะนี้ตนกำลังเตรียมถอดรหัสพันธุกรรมและติดตามไวรัส B.1.1.529 ว่าตำแหน่ง ที่มีการกลายพันธุ์คือจุดไหน
#โควิด19