เกมการเมือง'ปณิธาน'แจงหลากประเด็น สหรัฐฯไม่เชิญไทย เข้าร่วมเวทีประชาธิปไตย

25 พฤศจิกายน 2564, 18:37น.


          ข้อสงสัยขึ้นมาทันที กรณีกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯประกาศรายชื่อ 110 ประเทศ ที่เข้าร่วมการประชุมสุดยอดเพื่อประชาธิปไตย (Summit for Democracy) ทางออนไลน์ที่สหรัฐฯจัดขึ้นเป็นครั้งแรกระหว่างวันที่ 9-10 ธ.ค.เพื่อช่วยหยุดยั้งการเสื่อมถอยทางประชาธิปไตยและการพังทลายของสิทธิและเสรีภาพทั่วโลก ไม่ปรากฏชื่อ ประเทศไทย จีน รัสเซีย ขณะที่นายดอน ปรมัติวินัย รองนายกฯและรมว.ต่างประเทศ ตอบกระทู้สดในสภาฯวันนี้ ที่ไม่เชิญไทยเพราะเป็นการเมือง



          รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร อาจารย์ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอดีตรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า เวทีการประชุมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของสหรัฐฯในการกอบกู้ความเชื่อมั่นประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม ซึ่งสหรัฐฯเป็นผู้ผลักดันมาหลายสิบปี แล้วนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองและการทูตในหลายประเทศที่ตกต่ำลง หลังจากมีพัฒนาการในเชิงลบว่าประชาธิปไตยกำลังจะตาย มีหนังสือสำคัญออกมา เช่น ที่อังกฤษของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ว่าประชาธิปไตยเสรีนิยมกำลังจะตาย รวมถึงสหรัฐฯที่มีการบุกไปรัฐสภา ในสหรัฐฯมีการเสียชีวิตของผู้ประท้วง มีการละเมิดคนผิวสี มีข้อสังเกตตรงนี้ ทำให้สหรัฐฯ มีความวิตกกังวลมากว่าประชาธิปไตยเสรีนิยมตะวันตกที่สหรัฐฯ และอังกฤษผลักดันมาหลายสิบปีเป็นเครื่องมือทางการเมือง ทางการทูตเพื่อกดดันเพื่อให้มีพันธมิตรมากขึ้น



          อย่างไรก็ดี สหรัฐฯมีความสัมพันธ์ที่ดีกับไทย การไม่เชิญไม่ได้หมายความว่ามีความสัมพันธ์ไม่ดี สหรัฐฯยังส่งรองผอ.ซีไอเอมาพูดคุยกับนายกรัฐมนตรีในเชิงลึกล่วงหน้าหลายเรื่องแสดงให้เห็นว่าเป็นนโยบายซับซ้อนแยกแยะความเหมาะสมต่างๆ อย่างเช่น ไม่เชิญ จีน รัฐเซีย สิงคโปร์ เพราะแนวทางประชาธิปไตยเป็นของตัวเอง และไม่ทำแบบที่สหรัฐฯทำ



          อีกประเด็นเป็นความพยายามของสหรัฐฯในการเบี่ยงเบนในประเทศ เนื่องจากเข้าสู่การเลือกตั้งกลางสมัย เพราะฉะนั้นการยกระดับตัวเองให้เห็น เป็นการข่มขวัญคู่ต่อสู้นั่นก็คือ อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์และพันธมิตร ที่กำลังตีตื้นขึ้นมาแล้วในการเลือกตั้งท้องถิ่น รีพับลีกันเริ่มได้คะแนนนิยมกลับมา คะแนนนายไบเดน ตกต่ำมาก เขาจะกู้วิกฤตศรัทธาประชาชนได้ไหม ทำให้เขาต้องเชิญประเทศให้เยอะ และสองไม่เชิญประเทศที่เห็นต่างกับเขา อย่างเช่น สิงคโปร์มีระบบที่ประสบความสำเร็จ ขณะที่ไทย ที่รัฐบาลบริหารมา7 ปี เกิดเสถียรภาพสมดุลใหม่ จีน ประสบความสำเร็จมาก จึงไม่เชิญมาร่วม การนำหลายร้อยประเทศชี้นำได้ก็จะทำให้มีบทบาทในการเลือกตั้งของเขาด้วย

          อย่างไรก็ดี การที่สหรัฐฯดำเนินการรูปแบบนี้ ทำให้เห็นว่าเขายังมีพันธมิตรเป็นร้อยประเทศพยายามโดดเดี่ยว จีน รัสเซีย ทำให้จีนรู้ทันจึงออกมาแถลงโต้ในช่วงวันแรก

          "เราเหมือนอยู่ในหมู่บ้านเคยสงบสุข แต่มีนักเลงประจำซอย สองคนตีกัน ทำให้พวกเราในหมู่บ้านอกสั่นขวัญแขวนไปทั่ว ในยามที่เราเดินผ่านก่อนนั้นทักทายกันดี แต่ตอนนี้มาข่มขวัญจะอยู่พวกไหน ทำให้จิตใจเราก็ตุ้มๆต่อมๆไปด้วย



          อีกประเด็นที่ รศ.ดร.ปณิธาน ชี้ให้เห็นเบื้องหลังการทำงานของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯปัจจุบัน เนื่องจาก คนควบคุมกระทรวงการต่างประเทศขณะนี้เป็นพรรคเดโมแครต ซึ่งเดิมมีทัศนคติเป็นลบกับไทยว่าไทยเข้าข้างจีน เป็นลูกน้องจีน พยายามกดดันตลอด นับตั้งแต่สมัย คริสตี้ เคนนี่ย์ อดีตทูตสหรัฐฯประจำประเทศไทย อาเกรน ทอมัส ตอนนี้ก็กลับมาอยู่ในกระทรวงการต่างประเทศเป็นการควบคุมนโยบายที่ทำเป็นแบบไม่เข้าใจ ไม่เหมือนสมัยนายทรัมป์ ทำให้กระทรวงการต่างประเทศ ขณะนี้เป็นการชี้นำนายไบเดน มากกว่า สมัยนายทรัมป์ที่กระทรวงการต่างประเทศไม่ได้รับบทบาทมาก ครั้งนั้นมีการตั้งทูตพิเศษมาคุยกับไทยทางการค้า แต่พอมาเป็นยุคนายไบเดน ต้องลาออกไปและไม่ได้ตั้งใครเลย



 



#ประชุมประชาธิปไตย



#การเมืองระหว่างประเทศ

ข่าวทั้งหมด

X