การรองรับการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศในอนาคต ในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC ) การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) และบริษัท จีพีซี อินเตอร์เนชั่นแนล เทอร์มินอล จำกัด จับมือลงทุนพัฒนาท่าเรือแฉลมฉบัง ระยะที่ 3 ส่วนท่าเทียบเรือ F จังหวัดชลบุรี โดยมีการลงนามสัญญาร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน ซึ่งนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน กล่าวว่า โครงการดังกล่าว ถือเป็นก้าวสำคัญของประเทศไทย ในการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกให้เป็นประตูการค้าของนักลงทุนสู่ประเทศเมียนมา กัมพูชา เวียดนาม และลาว เป็นจุดเชื่อมโยงพื้นที่เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออกและตะวันตกไปสู่จีนตะวันตก จีนตอนใต้ และอินเดีย และ เป็นศูนย์กลางสำคัญในการคมนาคม รวมถึงการขนส่งกระจายสินค้าที่จะเชื่อมโยงกับโครงข่ายการขนส่งสินค้าทางรถไฟในประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องด้วย
สำหรับรายละเอียดโครงการ เรือโทยุทธนา โมกขาว รองผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย ฝ่ายบริหารการเงินและกลยุทธ์องค์กร รักษาการแทนผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ ได้พัฒนาท่าเรือแฉลมฉบังไปแล้ว2ระยะ ตั้งแต่ปี2534 ตามลำดับ รวมระยะกว่า30ปีแล้ว
จากการสำรวจพบว่า ในปี2566 จะมีปริมาณการขนถ่ายตู้สินค้าผ่านท่าเรือแหลมฉบังทั้ง 2 ระยะ รวมกันที่ประมาณ 11 ล้านทีอียู ทำให้ต้องเร่งพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 รองรับการเติบโตในอนาคต มีมูลค่าการลงทุนในส่วนภาครัฐมากกว่า 53,490 ล้านบาท และเอกชนร่วมลงทุน ประมาณ 30,871 ล้านบาท ก่อให้เกิดรายได้ประมาณ 118,000 ล้านบาท ซึ่งจะสามารถรองรับเรือที่มีขนาดบรรทุกสินค้าใหญ่ที่สุดในโลกและทำงานด้วยระบบอัตโนมัติ มีโครงข่ายเชื่อมโยงหลังท่าเรือ ทั้งทางบก ทางเรือชายฝั่ง และทางราง โดยทางรางจะสามารถขนส่งตู้สินค้าเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 30 ของตู้สินค้าผ่านท่าเรือทั้งหมดด้วย คาดว่า ท่าเทียบเรือF1 จะเริ่มก่อสร้างปี2566และเปิดบริการได้ภายในปี 2568 ส่วนท่าเทียบเรือF2 คาดแล้วเสร็จในปีพ.ศ.2572 หากก่อสร้างครบ จะสามารถบรรจุตู้สินค้าจาก11 ล้านตู้ ต่อปี เป็น 18 ล้านตู้ต่อปี
สำหรับค่าตอบแทนที่ภาครัฐจะได้รับค่าสัมปทานคงที่ มูลค่าประมาณ 29,050 ล้านบาท ค่าสัมปทานผันแปรที่100บาทต่อทีอียู มีระยะเวลาร่วมลงทุน35ปี ซึ่งร่างสัญญาร่วมลงทุนผ่านมติคณะรัฐมนตรี เมื่อ 9 พฤศจิกายน 2564 แล้ว
ด้านนายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(สกพอ.) ยอมรับว่า เนื่องด้วยสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ก่อนหน้านี้ทำให้การขนส่งหยุดชะงัก ขาดทุนไปกว่า2ล้านล้านบาท แต่ขณะนี้สถานการณ์ดีขึ้น การขนส่งกลับมาเดินหน้า การพัฒนาโครงการEECก็ต้องเดินหน้าต่อ ขณะนี้ได้ดำเนินการ 4 โครงการหลักแล้ว ทั้ง high-speed railway , ท่าอากาศยานอู่ตะเภา,ท่าเรือมาบตาพุด และท่าเรือแหลมฉบัง โดยภาครัฐร่วมกับเอกชนลงทุนรวม 654,921 ล้านบาท
#ท่าเรือแหลมฉบัง
#การท่าเรือแห่งประเทศไทย