TDRI เตือน ดีแทค-ทรู ควบรวมกิจการ กระทบผู้บริโภค-รัฐบาลรายได้ลด

23 พฤศจิกายน 2564, 18:51น.




          นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานมูลนิธิวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ให้ความคิดเห็นต่อการควบรวมกิจการระหว่าง บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) และ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) ว่า ไม่ว่าจะเรียกความร่วมมือทางธุรกิจที่เกิดขึ้นว่าอะไร นี่คือการควบรวมกิจการ มีโครงสร้างกึ่งผูกขาดอยู่แล้ว การควบรวมกิจการครั้งนี้จึงค่อนข้างอันตรายต่อการผูกขาดตลาด ผลกระทบทางบวกจากเรื่องนี้ คือ ผู้ถือหุ้นของทั้งสองบริษัท บริษัทคู่แข่งที่ไม่ได้เกี่ยวกับการควบรวมกิจการแต่มีราคาหุ้นเพิ่มสูงขึ้น ด้วยเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ที่เมื่อควบรวมแล้วจะทำให้เหลือผู้เล่นเพียงสองราย การแข่งขันและตัดราคากันจะน้อยลงไปด้วย



          ส่วนผู้ได้รับผลด้านลบคือผู้บริโภค และคู่ค้าของผู้ให้บริการที่อาจจะมีอำนาจต่อรองลดลง ธุรกิจสตาร์ทอัพที่คาดว่าจะได้รับการสนับสนุน การควบรวมจะทำให้ผู้สนับสนุนลดลงไปหนึ่งราย ส่วนรัฐบาล จะได้รับผลกระทบรายได้ลดลง ถ้ามีการประมูลคลื่นความถี่ ผู้เข้าประมูลลดลง รายได้ของรัฐย่อมลดลง ขณะที่ประชาชนจะต้องถูกเก็บภาษีเพิ่มขึ้นเพื่อไปทดแทนรายได้ของรัฐที่หายไป ถัดมาคือระบบเศรษฐกิจไทย ผลของการควบรวมกิจการจะทำให้การเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลของไทยมีต้นทุนสูงขึ้น การประกอบอาชีพ การค้าขายออนไลน์ การเรียนออนไลน์ ฯลฯ จะได้รับผลกระทบทั้งหมด



          การควบรวมกิจการเกิดขึ้น จะทำให้ตลาดโทรศัพท์มือถือจะกลับไปครั้งที่มีผู้ประกอบการเพียงสองราย ซึ่งยังไม่มีทรูมูฟ คือย้อนไป 15 ปี หรือย้อนกลับไปที่ปี 2547 ถ้าตลาดย้อนกลับไปเหมือนในอดีต อาจเกิดการปรับตัวของราคาค่าบริการที่สูงขึ้น หรือการเกิดแพคเก็จที่ไม่เกิดประโยชน์กับผู้บริโภค และยิ่งจะกระทบกับการทำธุรกิจ เพราะการทำธุรกิจในปัจจุบันมีความจำเป็นต้องใช้โทรศัพท์มือถือและบริการไร้สายในการทำธุรกิจ บริการโทรคมนาคมถ้าเหลือผู้ให้บริการรายใหญ่เหลือแค่สองราย จะเกิดผลกระทบอย่างมากกับผู้บริโภค เพราะเป็นกิจการที่มีผู้ประกิจการน้อยราย



          ดังนั้น กสทช. มีหน้าที่ในการดูแลไม่ให้เกิดการผูกขาด จึงควรพิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบ ไม่ว่าจะเรียกว่าความร่วมมือในครั้งนี้จะเรียกว่าอะไร ผลที่ได้เหมือนกัน คือทำให้เหลือผู้ประกอบการลดลง มีแนวโน้มที่กสทช.จะบอกว่าไม่มีอำนาจในการควบคุมไม่ให้เกิดการควบรวมกิจการ จึงไม่สามารถดำเนินการอะไรได้ หากกสทช.จะเน้นไปที่บทบาทการกำกับดูแลการให้บริการเพื่อไม่ให้เกิดการผูกขาดอาจจะทำได้ยาก ถ้าไม่มีข้อมูลเช่นเดียวกับผู้ให้บริการ การควบรวมกิจการโทรคมนาคมมีกฎหมายเกี่ยวข้อง 2 ฉบับ คือ กฎหมายการประกอบกิจการโทรคมนาคม และกฎหมายแข่งขันทางการค้า กสทช. มีอำนาจในการกำหนดมาตรการป้องกันการการควบรวมกิจการได้ ถ้ากสทช. ไม่มีอำนาจ ก็ยังมีกฎหมายป้องกันการผูกขาดการแข่งขันทางการค้า ส่วนที่ผู้ประกอบการประกาศว่าการรวมกันจะทำให้เกิดเทคโนโลยีใหม่ ขอมองย้อนไปดูว่า ผู้ประกอบการทั้งสองรายยังไม่ได้ทำให้เกิดเทคโนโลยีอะไรใหม่ๆ แต่เป็นการเพิ่มอำนาจให้เกิดการผูกขาดมากกว่า



#ดีแทคทรู



#TDRI



#ผู้บริโภคเสียหาย

ข่าวทั้งหมด

X